HoonSmart.com>>ข่าวใหญ่เมื่อปลายปี 2558 เมื่อ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ส่งบริษัทย่อย อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคปแมนเนจเม้นท์ (บริษัทย่อยของ IFEC) ซื้อหุ้นบริษัทในกลุ่มโรงแรมดาราเทวี (ดาราเทวี) จากผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง และผู้ถือหุ้นอีก 5 ราย ที่ถือคนละ 1 หุ้น รวมทั้งให้บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ (บริษัทย่อยของ IFEC) ซื้อหนี้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งหลายร้อยล้านบาท ซึ่งขณะนั้นซื้อกลุ่มโรงแรมดาราเทวี อยู่ระหว่างการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย
สรุปคือ IFEC ใช้เงินในการซื้อหุ้นและหนี้ของกลุ่มดาราเทวี รวมเป็นเงินเกือบ 4,000 ล้านบาท เรียกว่า ทุ่มสุดตัว เทหมดหน้าตัก เพื่อให้ได้โรงแรมนี้มาครอบครอง โดยปิติยินดีกับกำไรก้อนโตที่จะเกิดขึ้นทางบัญชี จากการปรับโครงสร้างหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการปรับปรุงแก้ไข
แต่ IFEC และผู้ถือหุ้น ปลื้มปิติกับการซื้อดาราเทวีได้ไม่นาน ก็แทบลมจับ เมื่อรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ ในดาราเทวี เช่น ดาราเทวี มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมเพียง 64 ห้อง ส่วนที่เหลืออีก 59 ห้อง ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ต้องรอผลของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ
เมื่อดาราเทวี เปิดบริการห้องพักได้เพียงส่วนเดียว แต่จ้างพนักงานไว้เต็มอัตรา คือ ประมาณ 400 คน คำนวณได้ว่า โรงแรมใช้พนักงาน 6 คน ต่อแขกผู้เข้าพัก 1 หลัง (กรณีแขกพักเต็ม) สวัสดิการพนักงาน ระดับแมนดาริน ก็ระดับ 5 ดาวอยู่แล้ว หอพักพนักงานฟรี เลี้ยงอาหารวันละ 2 มื้อ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ดาราเทวี ต้องประสบผลขาดทุนจำนวนมหาศาลทุกปี
ถึงแม้คณะกรรมการดาราเทวีชุดนี้ ได้รับเลือกเข้ามาเป็นกรรมการ IFEC ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2562 ก็ตาม แต่กว่าจะประชุมเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทย่อย (บริษัทหลาน) และประชุมเปลี่ยนแปลง กรรมการดาราเทวีได้ ก็ปาเข้าไปวันที่ 17 ตุลาคม 2562 แล้ว
คณะกรรมการชุดนี้ได้ให้อิสระในการบริหารดาราเทวี แก่ฝ่ายบริหารโรงแรมชุดปัจจุบัน โดยไม่ได้ก้าวก่าย หรือสร้างภาระค่าใช้จ่าย แก่ดาราเทวีแต่ประการใด
จากการเข้าตรวจสอบพบว่า ดาราเทวี ไม่มีเงินแม้แต่จ่ายเงินเดือน มีหนี้ทางการค้า รวมถึงหนี้ค่าสาธารณูปโภค อีกกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการชุดใหม่ได้ ช่วยแก้ปัญหาทางการเงิน โดยจัดหาให้กู้ยืมไปหลายครั้ง รวมทั้งสิ้นเกือบ 20 ล้านบาท
การบริหารโรงแรม ช่วงเดือนตุลาคม 2562 จนถึงต้นเดือนมกราคม 2563 มีผู้เข้าใช้บริการห้องพัก ประมาณ 20 ห้อง แต่พอโรงแรมดาราเทวี เจอช่วงแรกของการระบาดโรคโควิด-19 เหลือผู้เข้าใช้บริการ ประมาณ 10 ห้อง จนสุดท้ายเหลือผู้เข้าใช้บริการเพียง 1 ห้อง
คณะกรรมการชุดใหม่ ได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยติดต่อจะขอเข้าพบหารือ เพื่อขอคำแนะนำจากเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งหนึ่ง แต่ได้รับการปฏิเสธ และเริ่มปฏิบัติการยึดทรัพย์เพื่อกดดัน สร้างความแปลกใจให้กับกรรมการของดาราเทวีเป็นอย่างมาก แทนที่จะให้คำแนะนำ การแก้ไข เพื่อให้ดาราเทวี สามารถปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของบ้านเมือง แต่กลับใช้สิทธิของเจ้าหนี้ ยึดทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะอาหารในห้องอาหาร ในขณะที่มีลูกค้าใช้บริการอยู่
ที่หนักไปกว่านั้น คือ การยึด ยกเลิกการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าของดาราเทวี สร้างความตระหนกให้กับคณะกรรมการเป็นอย่างมาก จึงสั่งให้ฝ่ายบริหารโรงแรมรายงานสรุปว่า IFEC ซื้อดาราเทวีมาแล้ว ได้ทรัพย์สินอะไรบ้าง ????
จากคำบอกเล่าคนเก่า ๆ ในโรงแรม ว่า ทรัพย์สิน เฟอร์นิเจอร์ ตามเอกสารการประเมินทรัพย์สิน ในส่วนของโฉนดที่ดิน ที่มีอยู่หลายแปลง มีชื่อโรงแรมและบริษัทในกลุ่มดาราเทวี เป็นเจ้าของท้ายโฉนด เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับพบว่า ผู้ขออนุญาตก่อสร้างและชื่อเจ้าของอาคารโรงแรม กลับเป็นชื่อนิติบุคคลอื่น ที่ยิ่งแปลกใจหนัก แม้กระทั่ง หม้อแปลงไฟฟ้า ยังเป็นชื่อผู้อื่น ไม่ได้มีการโอนให้ดาราเทวี
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “IFEC ซื้อโรงแรมดาราเทวี” ไปแล้วได้อะไรบ้าง” และ IFEC ไม่ใช่เป็นผู้ซื้อโรงแรมดาราเทวี เป็นรายแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ มีนักลงทุนที่สนใจจะซื้อโรงแรมแห่งนี้ แต่ไม่สำเร็จ จนต้องฟ้องร้องยื่นข้อพิพาทกับศาลมาหลายปี มีเจ้าหน้าที่ ฯ กระซิบว่า “IFEC เป็นผู้กล้าที่อาจหาญเข้ามาซื้อดาราเทวี ?”
เจ้าหนี้รายดังกล่าว ยังอายัดเงินในบัญชีธนาคารของดาราเทวี รวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ดาราเทวี เตรียมไว้เพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าเซอร์วิส ค่าน้ำ-ค่าไฟ-โทรศัพท์ และเจ้าหนี้อื่น ๆ แต่ตรงกันข้าม กรรมการดาราเทวี กลับได้ข้อหา “โกงเจ้าหนี้” เป็นของขวัญเสียอย่างนั้น
มีคนแอบกระซิบว่า “ถ้าอยากให้หูตาสว่าง ก็ให้ไปดูว่า 1 ในกรรมการเจ้าหนี้รายนี้ เป็นใคร?
ท้ายสุด เมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารโรงแรมดาราเทวี แจ้งให้ IFEC ทราบว่า “มีความจำเป็นต้องปิดกิจการให้บริการ โรงแรมดาราเทวี ลงชั่วคราว” เนื่องจากปัญหา “โควิด-19” และไม่สามารถที่จะเปิดบริการโรงแรมที่มีพนักงานกว่า 300 คน ให้บริการลูกค้าที่มีผู้เข้าพักเพียงห้องเดียวได้”
ขอตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มที่เข้าไปยึดทรัพย์สินของดาราเทวี กลุ่มที่นำพนักงานไปร้องเรียนที่ศาลากลาง กลุ่มที่พยายามตีข่าวดาราเทวี ลอยแพพนักงาน ค้างค่าจ้างกว่า 10 ล้านบาท และกลุ่มที่คัดค้านการฟื้นฟูกิจการของ IFEC เป็นใคร “หาก IFEC ต้องล้มละลาย ใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในดาราเทวี”
สำหรับโรงแรมดาราเทวี มีชื่อเดิมว่า “แมนดาริน โอเรียลเต็ล ดาราเทวี” จังหวัดเชียงใหม่ เคยบริหารงาน โดยกลุ่มแมนดาริน โอเรียลเต็ล ชื่อของ “แมนดาริน โอเรียลเต็ล” การันตีอยู่แล้วว่า “ระดับ 5 ดาว” ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะโครงสร้างและงานก่อสร้างภายในโรงแรมและห้องพักเป็นแบบสถาปัตยกรรมล้านนา บนพื้นที่กว่า 150 ไร่ มีห้องพักรวมทั้งหมด 123 หลัง (ห้อง) มีห้องอาหารให้บริการทั้งไทย จีน ฝรั่งเศส และอีกหลายห้อง นอกจากนี้ ยังมีบริการสปาที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ส่วน IFEC ผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มดาราเทวี โดยถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทย่อย IFEC เข้ามาถือหุ้นในกลุ่มดาราเทวี ตั้งแต่ปลายปี 2558 ปัจจุบัน IFEC อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลาย ในเข้าฟื้นฟูกิจการ ต้องหยุดพักการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรือก่อหนี้ใหม่ที่ไม่ใช่เกิดจากธุรกรรมปกติ (Automatic Stay)” คณะกรรมการ IFEC จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ตามข้อกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อรักษาประโยชน์และให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น จำนวนมากกว่า 30,000 รายของบริษัท รวมทั้ง ตั้งใจแก้ไขปัญหาทั้ง IFEC และ ดาราเทวี ให้กลับมาดำเนินธุรกิจเป็นปกติ โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องทุกราย