ปัจจัยขับเคลื่อน (drivers) ของเศรษฐกิจในยุคใหม่

ปัจจัยขับเคลื่อน (drivers) ของเศรษฐกิจในยุคใหม่
โดย…สันติ กีระนันทน์

สันติ กีระนันทน์

ในยุคที่พูดกันเรื่องประเทศไทย 4.0 ซึ่งความหมายที่พอจะอธิบายได้ คือวิสัยทัศน์ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในยุคใหม่ที่ต้องอาศัยนวัตกรรมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน เพราะหากประสบความสำเร็จในการสร้างสรรนวัตกรรม (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นบทใหม่ของยุคปัจจุบันแทนยุคเดิมที่มุ่งเน้นกันเรื่องการวิจัยและพัฒนา) ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับสินค้าและบริการได้อย่างมาก และมีความหวังว่า มูลค่าเพิ่มเหล่านั้นจะมากพอที่จะทำให้รายได้ของคนในประเทศเพิ่มขึ้นจนพ้นจากความเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่เราติดกับดักกันมานาน (middle income trap)

เราได้ยินความพยายามในการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือที่เรียกกันว่า startup ซึ่งน่าจะนับเป็นการดำเนินธุรกิจแนวใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง เพราะเป็นการใช้นวัตกรรมด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแบบที่การดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ ทำไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการประเภทนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างก้าวกระโดด และหากมีผู้ประกอบการประเภทนี้ที่สามารถสร้างสรรนวัตกรรมได้เป็นจำนวนมากแล้ว ก็จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดในทุก ๆ ด้าน ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การจะทำให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างนี้ได้นั้น นอกจากจะต้องพยายามสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ให้เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมเหล่านี้แล้ว ระบบการศึกษา ตลอดจนการปลูกฝังวัฒนธรรมเชิงความคิดสร้างสรรค์ คงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างมาก เพื่อทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ และแน่นอนว่า คงจะใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย

ในอีกด้านหนึ่งของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลงนั้น อาจจะมุ่งประเด็นไปที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งผู้คนที่อยู่ในภาคเกษตร และผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (ซึ่งมีกว่า 3,000,000 ราย) อาจจะนับได้ว่าเป็นฐานประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้คงจะไม่ได้คิดจะพัฒนาไปเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) มากนัก แต่แนวทางการส่งเสริมที่สำคัญที่จะทำให้คนกลุ่มใหญ่ของประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพในการแข่งขันได้ ก็คงจะเป็นพันธกิจสำคัญที่ควบคู่ไปกับการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น

ถ้าจะแยกภาพการพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การพัฒนา startup และการพัฒนา SME ซึ่งอาจจะดูคล้ายกับเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาจริง ๆ แล้ว ไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน
และไม่ใช่การพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน กล่าวคือ การพัฒนา SME นั้น เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ในเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาช่องว่างของการกระจายรายได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า หากแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ว่ายากจน ก็น่าจะบรรเทาลง หรืออาจจะเรียกว่า การพัฒนา SME นั้น เป็นการแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง (ซึ่งเป็นมิติเศรษฐกิจที่ประชาชนคนเดินดินให้ความสนใจ)

ในขณะที่การพัฒนา startup นั้น เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลางที่วัดกันด้วยรายได้ต่อหัว หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว น่าจะเป็นเรื่องการสร้างเสริมศักยภาพของประเทศในระยะยาว

ดังนั้น ทั้งสองเรื่องนี้ ดูคล้ายกัน แต่ไม่น่าจะเหมือนกัน ในแง่ของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ