เปิดวิสัยทัศน์ “ภากร ปิตธวัชชัย” : “ตลาดหุ้นไทยโตทันสิงค์โปร์ในอีก 5 ปี”

ภากร ปิตธวัชชัย


“5 ปีข้างหน้าหรือปี 2566 มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยจะโตเฉลี่ยปีละ 10% โดยเฉพาะจากบริษัทใหม่ที่เข้ามาทำ IPO ปีละ 40 บริษัท หรือ 2.5 แสนล้านต่อปี ถ้าโตแบบนี้ ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตลาดหุ้นไทยจะมีมาเก็ตแคปทันตลาดหุ้นสิงคโปร์ แต่เราไม่ได้มองแค่ 5 ปีเท่านั้น เรามองยาวเป็น 10 ปี ว่าตลาดหุ้นไทยจะโตอย่างไร และไม่ใช่แค่โต แต่ต้องโตอย่างมีคุณภาพ”

เป็นส่วนหนึ่งของมุมมองและวิสัยทัศน์ของ “ภากร ปิตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่ 13 ในเปิดตัวครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน

ภากร ระบุว่า แม้ว่าในช่วง 3-5 ปีจากนี้ จะไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาของตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร และตลาดจะเติบโตในรูปแบบไหน ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ในภาพใหญ่ตลาดหุ้นจะเป็นแหล่งระดมทุนให้กับธุรกิจ และให้นักลงทุนเข้ามาแสวงหาผลตอบแทน โดยตลท.จะร่วมกับพันธมิตรเก่งๆสร้างแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดหุ้นไทย

พร้อมๆกันนั้น ตลท.จะเปิดเผยข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลในระบบ Big Data เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) นักวิเคราะห์ และนักลงทุน ได้เข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และโปร่งใส ก่อนนำมาทำการวิเคราะห์ และเลือกลงทุนได้ตรงความต้องการ หรือให้บริการดูแลลูกค้าแต่ละกลุ่มได้เหมาะสมตั้งแต่ต้นจนจบ

“เราจะสร้าง “จุดเปลี่ยน” เพราะเทคโนโลยีกระทบเยอะ โดยเราจะร่วมมือกับคนเก่งๆ สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม โอเพ่นซิสเต็ม เพื่อให้ลูกค้าของเรา ทั้งบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน บจ. และนักลงทุน เข้าใช้บริการแพลตฟอร์มได้แบบ End to End เช่น บจ.ใหม่ๆสามารถยื่น Listing trading และเพิ่มทุน ได้ในแพลตฟอร์มเดียว”ภากร กล่าวถึงแนวทางการทำงานข้อ 1 จาก 4 ข้อ

แนวทางข้อสอง ตลท.ได้กำหนด “จุดขาย” ของตลาดหุ้นไทยในการออกไปโรดโชว์บนเวทีโลก โดยจะเป็น “Market of Well-being” หรือตลาดที่มีหุ้นกินดีอยู่ดีระดับโลก และเป็นตลาดที่มีทรัพย์สินของประเทศในกลุ่ม CLMV เข้ามาซื้อขาย เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นจากประเทศในแถบอาเซียนด้วย

“เรามี AOT เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีโรงพยาบาลใหญ่อันดับ 5 ของโลก มีโรงแรมใหญ่อันดับ 10 กว่าๆ เรื่องอาหารเราใหญ่เป็นอันดับที่ 27 ของโลก เรื่องกินดีอยู่ดีเป็นจุดขายของเรา และเราจะสร้างโปรดักส์ใหม่ๆเข้ามาขายในตลาด เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐานใน CLMV หุ้นอินโดฯ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เพราะจีดีพีของเราคงโตมากกว่า 4.8% ได้อีกไม่เยอะ”

แนวทางข้อถัดมา ตลท.ยืนยันใน “จุดยืน” ที่จะรักษาและพัฒนาคุณภาพของบจ.ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งเพิ่มความหลากหลายของนักลงทุน ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะที่วัตถุประสงค์หลักของเรา ไม่ใช่แต่สร้างกำไรเท่านั้น แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมเติบโตและบจ.มีความเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแรง

ส่วนการปกป้องนักลงทุนรายย่อยที่อาจได้รับความเสียหายจาก “แก๊งปั่นหุ้น” นั้น ภากร บอกว่า อยากฝากไปถึงนักลงทุนทั่ว่า ก่อนจะลงทุนในหุ้นหรือทรัพย์สินใดๆจะต้องรู้และเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทั้งตลท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับทำงานเชิงรุกเพื่อป้องปรามอินไซด์เดอร์เทรดดิ้ง

“เรื่องอินไซด์เดอร์เทรดดิ้ง เราไม่เคยวางเฉย เราปรับปรุงวิธีการมาตลอด แม้จะดูแลทุกเคสไม่ได้ แต่อะไรที่ผิดปกติ เรากับก.ล.ต.ทำงานร่วมกัน และเป็นเรื่องดีที่ก.ล.ต.ได้ฟ้องนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง และบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วล็อกเงินเอาไว้เลย ไม่ให้นำเงินออกไปใช้ได้ จากเดิมที่ต้องพิสูจน์ว่าผิดก่อนจึงจะดำเนินการได้ เป็นการปรามโดยไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งเราจะทำต่อไป”

แนวทางข้อสุดท้าย การปรับโครงสร้างองค์กรและเปลี่ยน “Mindset” ของบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยต่อไปนี้ตลาดหุ้นจะไม่ใช่ตลาดของคนรวย หรือนักเก็งกำไร แต่เป็นตลาดที่สร้างโอกาสให้ทุกคน เช่น คนที่ไม่ได้เก่งในการทำธุรกิจ แต่สามารถเป็นเจ้าของกิจการและเจ้าของทรัพย์สินได้ รวมทั้งเป็นแหล่งระดมทุนให้สตาร์ทอัพผ่าน “LiVE แพลตฟอร์ม”

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) จะขายหุ้น 50% ในสถานีโทรทัศน์ Money Channal ที่ถือร่วมกับตลท. นั้น ภากร ระบุว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบ

เหล่านี้ คือ วิสัยทัศน์และแนวทางการทำงานในตำแหน่งจัดการตลท.ของ “ภากร” ในช่วง 4 ปีจากนี้ไป อย่างไรก็ตาม “ภากร” ได้ย้ำว่า “ตลท.ต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับ 4 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น คือ ดิจิทัลดิสรัปชั่น การระดมทุนรูปแบบใหม่ เช่น ICO การเชื่อมโยงของตลาดหุ้นที่ไร้พรมแดน และนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพ”