คอลัมน์ KTAM Focus : Corona มา…หา Healthcare

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

2019-nCoV (2019 Novel Coronavirus) “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ซึ่งก่อโรคปอดอักเสบ มีจุดกำเนิดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันทั่วโลกนับหมื่นราย และเสียชีวิตไปแล้ว 200 กว่าคน สร้างความวิตกกังวลไปทั่วทุกหัวระแหง ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางการลงทุน

กระแสตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวโน้มระยะยาวอยู่แล้ว ดูเหมือนถูกกระตุ้นให้โหมกระพือมากยิ่งขึ้นด้วยวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้

 

 

หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับเข้าสู่จุดโฟกัสของนักลงทุนอย่างรวดเร็ว ตัวอย่าง “สุดขั้ว” เกิดขึ้นแล้วที่ญี่ปุ่น หุ้นของบริษัท Kawamoto Corp. ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์รวมถึง “หน้ากากอนามัย” + 749% ภายในระยะเวลาแค่เดือนเดียว สะท้อนความต้องการอุปกรณ์จำเป็นต่อชีวิตซึ่งกำลังขาดแคลน

หลายคนคงคิดว่า “อย่างนี้…หุ้น Healthcare ทั่วโลกก็คงบวกรับข่าวไวรัส ขึ้นไปไกลจนซื้อยากแล้วละสิ?” …ไม่เลย!!!

 

 

Health Care Select Sector SPDR Fund (XLV) อีทีเอฟซึ่งเป็นตัวแทนหุ้น healthcare ในสหรัฐฯ ร่วงลงกว่า 5% ใน 7 วันทำการล่าสุด ส่วนหนึ่งคือ “พักฐาน” หลังวิ่งขึ้นมาร้อนแรงเกือบ 4 เดือน (+19% จากจุดต่ำสุด 2 ต.ค. – สูงสุด 22 ม.ค.) ด้วยแรงส่งจากการฉีดสภาพคล่องและขยายขนาดงบดุลของเฟด เพราะตั้งแต่ขึ้นปีใหม่ดูเหมือนเฟดจะเริ่มลดการฉีด “สารกระตุ้น” ตัวนี้ให้แก่ตลาด เห็นได้จากขนาดงบดุลที่เริ่มทรงตัว

 

 

การเมืองสหรัฐฯ เข้ามาซ้ำเติมเพิ่มปัจจัยลบต่อ sentiment ของนักลงทุนในระยะสั้น และคงไม่ได้กระทบแค่หุ้นกลุ่ม healthcare แต่เรื่องนี้ส่งผลกดดันหุ้นสหรัฐฯทั้งตลาด โดย Bernie Sanders วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งชูนโยบายแนวซ้ายสังคมนิยม (ตลาดหุ้นซึ่งเป็นฝ่ายทุนนิยมไม่ชอบอยู่แล้ว) และเป็นผู้ร่างกฎหมายประกันสุขภาพ Medicare for All อันลือลั่นสั่นสะเทือนอุตสาหกรรม healthcare กำลังได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วงโค้งสุดท้ายก่อน “คิกออฟ” การเลือกตั้งขั้นต้นนัดแรก 3 ก.พ. ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐไอโอวา เพื่อเฟ้นหาตัวแทนพรรคเดโมแครตไปชิงตำแหน่ง ปธน. กับทรัมป์ ผลโพลเผยระยะห่างระหว่างผู้สมัคร “สายกลาง” (ทำให้ตลาดหุ้นสบายใจ) ที่มีคะแนนนิยมนำมาตลอดคือ อดีตรอง ปธน. Joe Biden กับอันดับ 2 คือ Sanders นั้นแคบลงเรื่อยๆ

 

 

ขณะสำนักพนันถูกกฎหมายแทบทุกแห่ง ปรับราคาต่อรองให้ Sanders ขึ้นเป็นเต็ง 1 เรียบร้อยแล้วเมื่อไม่กี่วันก่อน ในเวลาไล่เลี่ยกับที่หุ้นสหรัฐฯเริ่มทิ้งดิ่งและความผันผวนพุ่งสูงขึ้น …แม้นักลงทุนส่วนใหญ่โทษไวรัสเป็นตัวการทุบหุ้น ซึ่งก็จริงในพื้นที่เสี่ยงระบาดหนักๆเช่น เอเชีย แต่หากมองเฉพาะเจาะจงไปยัง หุ้นสหรัฐฯ ซึ่งได้ปัจจัยหนุนจากนโยบายกระตุ้นของทรัมป์มาหลายปีแล้ว “Sanders ผงาด” ก็อาจเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญกว่า

หลายปัจจัยบวกลบสวนกันไปมาอย่างนี้ สรุปว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare น่าลงทุนหรือเปล่า? ถ้าใช่…จะลงทุนเมื่อไหร่ดี?

Healthcare Sector ประกอบด้วยหลายกลุ่มย่อย: ยา (pharmaceuticals) เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) เครื่องมือแพทย์ (medical products) ประกันสุขภาพ (medical insurance) โรงพยาบาล คลินิค สถานดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ (pharmaceutical services) เวชสำอาง (cosmetics) ดังนั้น healthcare จึงเป็นหุ้นกลุ่มที่หลากหลายและมีแนวโน้มการเติบโตชัดเจน ด้วยปัจจัยสนับสนุนเชิงโครงสร้างหลายประการ เช่น คนอายุยืนขึ้น ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ความปลอดภัยด้านสุขภาพ/อาหาร เทคโนโลยีก้าวหน้า การใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนการควบรวมกิจการกันในกลุ่ม แนวโน้มเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป และสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในกลุ่ม healthcare อย่างยั่งยืนในระยะยาว

จังหวะลงทุน ในสินทรัพย์คุณภาพสูงแบบนี้คือ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” โดยในอดีตที่ผ่านมา “โอกาสดีๆ” มักเกิดขึ้นเมื่อดัชนีหุ้น healthcare ของสหรัฐฯหรือของโลก (ซึ่งประกอบด้วยหุ้นสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่) ปรับตัวลงมาหนักๆ (สาเหตุมักมาจากปัจจัยการเมือง) จนใกล้ภาวะขายมากไป (oversold) …สัญญาณเทคนิคบางตัวเช่น RSI ล่าสุดชี้ว่า โอกาสนั้นกำลังมาแล้ว!

KTAM World Healthcare Fund (KT-HEALTHCARE-A) และ KTAM World Healthcare RMF (KT-HEALTHC RMF) มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของ Janus Henderson Global Life Sciences Fund (Master Fund) มุ่งแสวงหาการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences)

ปัจจุบัน fund manager เน้นลงทุนในธุรกิจ healthcare ที่โดดเด่นด้าน “นวัตกรรม” มุ่งพัฒนาวิธีรักษาใหม่ๆซึ่งเป็นที่ต้องการมาก มีโอกาสเติบโตสูง และทนทานต่อแรงกดดันให้ลดราคาซึ่งมักเป็นประเด็นการเมือง นอกจากนี้ยังมุ่งลงทุนในธุรกิจที่ช่วยพัฒนา “ประสิทธิภาพ” ลดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐอีกด้วย

ดังนั้น ความผันผวนอันเนื่องมาจากปัจจัยการเมืองในสหรัฐฯขณะนี้จนถึงเลือกตั้งเดือน พ.ย. จึงน่าจะมีผลกระทบค่อนข้างจำกัด และช่วยเปิดโอกาสให้ fund manager ได้เลือกซื้อหุ้นดีๆราคาโดนๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน