หุ้นม.ค.ดิ่ง 4.14% กุมภาฯ เสี่ยงต่อ กดดันกนง.ลดดอกเบี้ย ฟื้นกำไรบจ.

HoonSmart.com>>หุ้นเดือนม.ค.ไหลลง 65.70 จุด ต่างชาติทิ้ง 17,302 ล้านบาท บล.กสิกรไทยคาดตลาดเดือนก.พ.ผันผวนสูงตามสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ลุ้นผลประชุม 5G ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดกนง.พิจารณาลดดอกเบี้ย  บล.เอเซียพลัสมองลบ เล็งลดเป้าเศรษฐกิจและกำไรบจ.ปี 63

ในปี 2563 ตลาดหุ้นเริ่มต้นดี แต่ยืนไม่นานไหลลงเร็วตามปัจจัยลบที่กระหน่ำเข้ามาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เดือนม.ค.ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,514 จุด รูดลง 65.70 จุด  นักลงทุนต่างชาติทิ้ง 17,302 ล้านบาท สถาบันขายด้วย 12,341ล้านบาท รายย่อยรับเละ 30,464 ล้านบาท โดยเฉพาะวันที่ 31 ม.ค. ต่างชาติขายมากถึง 4,015 ล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีพลิกจากบวกมาติดลบ 9.85 จุด หรือ 0.65% ส่วนค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเร็วอยู่ที่ 31 บาทเศษต่อดอลลาร์

บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนเดือนมกราคมผิดไปจากที่ตลาดประเมินไว้ ภายหลังเผชิญหลายปัจจัยภายนอกนำโดยความขัดแย้งในตะวันออกลางระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน และไวรัสโคโรนา ประกอบกับธุรกิจหลายกลุ่มยังเผชิญกับความไม่แน่นอน

สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าในช่วงต้นเดือน ดัชนีจะยังแกว่งตัวสูงตามสถานการณ์โรคระบาด และน่าเริ่มกลับมาทรงตัวในช่วงวันที่ 7-14 ก.พ.
นอกจากนี้ในเดือนก.พ.จะมีความชัดเจนของการประมูล 5G วันที่ 16 ก.พ.จากในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มสื่อสารผันผวนสูงภายหลังค.ร.ม.มีมติควบรวม CAT กับ TOT ก่อให้เกิดความกังวลและนักลงทุนบางกลุ่มเลือกที่จะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผล หากทั้ง ADVANC, DTAC และ TRUE ได้คลื่น 2600Mhz จำนวนใกล้เคียงกัน คาดตลาดจะตอบรับในเชิงบวก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.25% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในจังหวะเวลาพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยมี 2 แนวทาง ได้แก่ ทางเลือกแรก พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนก.พ. ลง 0.25% และพิจารณาปรับลดเพิ่มเติมในการประชุมรอบเดือนมี.ค. อีก 0.25% หรือ ทางเลือกที่สอง พิจารณาปรับลดลงในคราวเดียวกันได้ถึง 0.50% จากระดับปัจจุบันที่ 1.25% มาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี

ไตรมาส 1 มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมมาในจังหวะเวลาที่งบปี 2563 มีแนวโน้มล่าช้า ทำให้เครื่องมือทางการคลังจะยังไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ จึงต้องอาศัยนโยบายการเงินให้เข้ามามีบทบาทสำคัญ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ประเมินว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไปไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นประมาณ 0.5% ของ GDP นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภาวะภัยแล้ง หลังเกิดโรคระบาด ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ณ วันที่ 30 ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 31.2 เทียบกับระดับสิ้นปี 2562 ที่ 29.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

บล.เอเซียพลัสวิเคราะห์ว่า การประชุม กนง. วันที่ 5 ก.พ. 2563 คาดว่า กนง. เริ่มมีโอกาสพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงราว 0.25% เหลือ 1% ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลให้ต่างชาติลังเลในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น เพราะมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี คือ ทุกๆ ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกิน 1% จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเฉลี่ยราว 8.5 พันล้านบาท กดดันให้ดัชนีขึ้นได้อย่างจำกัด

ส่วนสถานการณ์โรคระบาดของไวรัสโคโรนาสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโลก ทำให้เห็นเม็ดเงินทุนมีแนวโน้มไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไหลเข้าไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ ทองคำเพิ่มขึ้น 0.84% และเงินไหลเข้าพันธบัตร Bond Yield ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐปรับตัวลดลงเหลือ 1.546% ต่ำกว่า Bond Yield 3 เดือนที่ 1.554% ส่งผลให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve หรือ Bond Yield ระยะสั้นสูงกว่า Bond Yield ระยะยาว ทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเกิดภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ASPS มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง และภาวะ Inverted Yield Curve ข้างต้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เช่นเดียวกับไทย เงินไหลเข้าพันธบัตร เห็นได้จาก Bond Yield อายุ 10 ปี ล่าสุดอยู่ที่ 1.31% ลดลงจากจุดสูงสุด กลางเดือน ม.ค.63 ที่ 1.445%

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า เศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอชัดเจนมีความเสี่ยงว่าประมาณการในปี 2563 ว่าจะขยายตัว 2.8% มีโอกาสต่ำกว่าคาดได้และมีหลายปัจจัยลบ จะนำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน อาทิ การชะลอตัวของกำไรในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มโรงแรม และกลุ่มธุรกิจการบิน ทั้งนี้ตามประมาณการเดิมของฝ่ายวิจัยคาดว่า กำไรสุทธิงวดปี 2563 จะอยู่ที่ราว 1.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ระดับ 95.7 บาทต่อหุ้น มีแผนที่จะปรับลดประมาณการตัวเลขกำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น ปี 2563 หลังการประกาศงบการเงินงวดปี 2562