หุ้นแตกพาร์ร่วงระนาว เลือกให้ดีมีกำไร

หุ้นแตกพาร์หมดแรงวิ่ง คำถามยอดฮิต ราคาขนาดนี้เข้าซื้อได้ไหม และจะเลือกตัวไหนดี

ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นแรงติดต่อกันสองปีที่ผ่านมา (2559-2560) รวมมากกว่า 36% และยังคงบวกต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2561 ส่งผลให้ราคาหุ้นหลายตัวปรับตัวขึ้นมาสูงมาก จนผู้บริหารมองว่า ”ราคา” อาจจะปิดกั้นโอกาสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนระดับกลางและระดับเล็ก และส่งผลต่อเนื่องถึงสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น จนเป็นอุปสรรคหนึ่งในการระดมทุนในอนาคต และอาจจะนำไปสู่การขาดคุณสมบัติในการเลื่อนชั้นขึ้นเข้าสู่การคำนวณดัชนีต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ

ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทจดทะเบียนนิยมใช้กลยุทธ์เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้(แตกพาร์) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้ง่ายยิ่งขึ้น

แต่นักลงทุนกลับนำเป้าหมายของการแตกพาร์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ใช้เป็นเครื่องมือในการชี้นำเพื่อการเก็งกำไร จนผลักดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานที่มีอยู่ในขณะนั้น


“ ในปี 2561 มีบริษัทมากกว่า 10 แห่ง ที่มีการ”แตกพาร์”และการ”รวบพาร์” เพื่อทำให้หุ้นดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ผสมกับแรงเก็งกำไรเข้ามาหนาแน่น ราคาก็ปรับตัวขึ้นแรงตาม แต่หลังจากนั้นและจนถึงขณะนี้ ราคาหุ้นหลายตัวยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไประดับก่อนแตกพาร์ เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ”

หุ้นขวัญใจนักลงทุน บริษัทปตท.(PTT) คณะกรรมการบริษัทฯมีมติแตกพาร์จาก 10 บาทเหลือ 1 บาท เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และผลของการแตกพาร์มีผลในวันที่ 24 เม.ย. ในช่วงนั้นสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าขยับขึ้นแรงและเร็วร่วม 20% สนับสนุนให้ราคาหุ้นถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 590 บาท แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยน ราคาหุ้นก็อ่อนตัวลงเคลื่อนไหวบริเวณ 52-53 บาท(พาร์ 1 บาท)

แต่ราคาหุ้นปตท. ปรับตัวลงไม่มากเท่ากับ บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป ( CPL) ทรุดประมาณ 26.82% และบริษัทสยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) รูดลง 20.81% จนเกิดคำถามว่า“ราคานี้”น่าเข้าไปซื้อแล้วหรือยัง

‘เอเซียพลัส’แนะนำวิธีเลือกหุ้น

นายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส(ASP) แนะนำว่า นักลงทุนที่จะเลือกซื้อหุ้นทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะหุ้นที่แตกพาร์ ควรจะพิจารณาจากการเปรียบเทียบราคาในปัจจุบันกับมูลค่าเหมาะสมที่นักวิเคราะห์หลายแห่งคาดการณ์ไว้ รวมถึงแนวโน้มของธุรกิจและผลการดำเนินงานในอนาคตประกอบด้วย

ปตท.ยังต้องรอเวลา

นายพบชัย ยกตัวอย่างกรณี บริษัทปตท.(PTT) ราคาหุ้นในปัจจุบันเคลื่อนไหวบริเวณ 52-53 บาท ใกล้เคียงมูลค่าเหมาะสมที่ ASP คาดการณ์ไว้ที่ 54 บาท และแนวโน้มราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า คงจะยืนอยู่ในระดับสูงเหมือนในขณะนี้ ยาก เมื่อพิจารณาการผลิตของกลุ่มโอเปก และสหรัฐอเมริกา ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจหุ้น ปตท. ควรรอให้ราคาปรับตัวลงมามากกว่านี้ก่อนจะดีกว่า

“ ในอดีต ก็มีเหมือนกันที่ราคาหุ้นลงมาเยอะ แล้วก็ขึ้นมามาก เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT แตกพาร์ เมื่อเดือนก.ย. 2560 ราคาลงมาใกล้ 50 บาท แต่เมื่อมีปัจจัยนักท่องเที่ยวเข้ามามาก รวมถึงการขยายการลงทุนสนามบิน ก็ทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัวเร็ว จนมาซื้อขายใกล้ 70 บาท”นายพบชัยกล่าว

SGP กำไรร่วง ราคา LPG ลดเร็วไป ไตรมาส 2 ฉลุย

ส่วนกรณีที่ราคาหุ้น SGP ลดลงต่อเนื่อง นางจินตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ เปิดเผยว่า น่าจะมาจากสาเหตุจากกำไรไตรมาสแรกลดลง ตามราคาก๊าซ LPG ที่ปรับตัวลดลง ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่ไม่เข้าใจธุรกิจของ SGP ตกใจเทขายหุ้นออกมา ซึ่งบริษัทอธิบายมาตลอดว่ากำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับราคา LPG ในตลาดโลก ดังนั้น ควรมองผลประกอบการทั้งปี ไม่ใช่มองเป็นรายไตรมาส

“ไตรมาสแรกปีนี้ ราคา LPG ในตลาดลดลง ทำให้กำไรเราลดลง ไม่ใช่เพราะธุรกิจมีปัญหา นักลงทุนใหม่ๆอาจตกใจ แต่ก็ย้ำเสมอว่า ถ้าจะถือหุ้น SGP ต้องดูยาว ไม่ใช่ดูรายไตรมาส และที่ผ่านมายอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกลัว เราตั้งใจทำมาหากิน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของเรามีความสุข ขอให้สบายใจได้”นางจินตนากล่าว

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/2561 SGP มีกำไรสุทธิเพียง 100 ล้านบาท รูดลงถึง 91% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,143 ล้านบาท เกิดจากราคาก๊าซ LPG ปรับตัวลงเร็วไป ตั้งแต่ไตรมาส 1 ซึ่งตามวัฎจักรจะลดลงในไตรมาส 2 ของทุกปี

แนวโน้มไตรมาส 2/2561 กำไรจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 หลังเห็นราคา LPG ปรับตัวขึ้นมาแล้ว และจะยิ่งดีขึ้นมาก หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2560 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 66 ล้านบาท จะต้องพิจารณาผลกำไรทั้งปี เพราะปีที่ผ่านมา แม้ว่ามีขาดทุนไตรมาส 2 แต่รวมทั้งปี 2560 บริษัทฯก็ยังมีกำไรสุทธิ 2,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 151% จากกำไรสุทธิ 1,118 ล้านบาทในปี 2559 จากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น