ฟอสเซลอนุพันธ์ซ้ำหุ้นดิ่ง 2.89% กองทุนไม่รีบเข้า-เชียร์ 4 กลุ่มน่าซื้อ

HoonSmart.com>> หุ้นไทยทรุดหนัก 45.40 จุด ปิดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี นักลงทุน 3 กลุ่มทิ้งพร้อมกันกว่า 7 พันล้านบาท ดัชนีจ่อหลุด 1,500 จุด เจอแรงกระหน่ำขายหลายกลุ่ม หุ้นท่องเที่ยว บริษัทที่มีรายได้จากชาวจีนเจอเต็มเปา เชื้อไวรัสโคโรนาลุกลามเศรษฐกิจโลก  กระทบราคาน้ำมัน ปิโตรฯ-โรงกลั่นดิ่งไม่เลิก แบงก์เจ็บจากมาตรการธปท. นักลงทุนโยนผ้าทิ้ง ผสมถูกบังคับขายอนุพันธ์ หลังซื้อ DW-บล็อกเทรดผิดทาง  ตลาดลงมา 6 วันติด ด้านกองทุน บลจ.เอ็มเอฟซียังไม่รีบเข้าซื้อ ส่วนคนที่สนใจ แนะ 4 กลุ่ม เทคโนโลยี-สื่อสาร-ส่งออก-หุ้นปันผล บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีคาดตลาดเผชิญปัจจัยลบอีก 2-3 เดือน รีบหั่นเป้าสิ้นปีลง 100 จุด เหลือ 1,600 จุด Top pick 9 ตัว BBL, PTTEP, CHG, MAKRO, CPALL, AP, INTUCH, CPF, NETBAY

 

27 มกราคม 2563 เป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยร่วงแรง ดัชนีปิดที่ 1,524.15 จุด รูดลง 45.40 จุด คิดเป็น -2.89 % ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 69,174.18 ล้านบาท ดัชนีทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ปี 1 เดือน จากระดับปิดที่ 1,524.60 จุด เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2559

นักลงทุน 3 กลุ่มพร้อมใจกันเทขาย ต่างชาติทิ้ง 2,733 ล้านบาท พอร์ตบล.ผสมโรง 2,624 ล้านบาท และสถาบันไทยขาย 2,492 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยรับเต็มๆ 7,850 ล้านบาท ขณะที่ตลาดอนุพันธ์ต่างชาติขาย  6,443 สัญญา กองทุนซื้อ 16,438 สัญญา นักลงทุนขาย 9,995 สัญญา  แต่ต่างชาติซื้อตราสารหนี้ 3,452 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ซื้อ 2,106 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดิ่งลงแรง มาจากหลายปัจจัย นอกจากความกังวลเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขยายวงกว้างกระทบท่องเที่ยวและภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาน้ำมันดิบลดลง กดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ที่มีมาร์เก็ตแคปสูง รวมถึงธนาคารขนาดใหญ่ถูกขายจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษาธนาคารดิจิทัล เตรียมให้ไลเซ่นส์ หนุนการแข่งขันและกำหนดวันบังคับใช้ 1 พ.ค. 2563 สำหรับการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินกรณีผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563  สถานการณ์การเมืองไม่มีเสถียรภาพ  และดาวโจนส์ล่วงหน้าติดลบ

แหล่งข่าวจากตลาดทุน กล่าวว่า  ดัชนีหุ้นระหว่างวันลงไปต่ำสุดประมาณ 50 จุดที่ระดับ 1,519.03 จุด  รวมถึงการขายหุ้นออกมามากในช่วงเช้า  ต้นเหตุหนึ่งเกิดจากการบังคับขายหรือฟอสเซลผลิตภัณฑ์อนุพันธ์  เพราะนักลงทุนที่ตัดสินใจ”ซื้อ” บล็อกเทรดและใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(DW)  แต่ดัชนีหุ้นลดลงติดต่อกัน 6 วัน โดยเฉพาะวันที่ 27 มกราคม ทำให้ราคาหุ้นหลายตัวปรับตัวลงแรงถึงเกณฑ์บังคับขาย บางตัวถึงเกณฑ์ต้องนำเงินมาเติม  หากทำไม่ได้ โบรกเกอร์ก็ต้องขายออก เพื่อป้องกันความเสียหายที่มากขึ้นของทั้งลูกค้าและบริษัทหลักทรัพย์  ซึ่งตามหลักเกณฑ์มีระยะเวลากำหนด  เช่นเมื่อวันศุกร์ เมื่อหุ้นลงมาถึงเกณฑ์ต้องเติมเงิน ก็ต้องนำเงินมาเพิ่มในช่วงก่อนเปิดตลาดวันจันทร์  หากไม่มี ก็ต้องถูกบังคับขายช่วงเปิดตลาด  และโบรกเกอร์ยังสามารถขายระหว่างวันแบบเรียลไทม์ได้ หากราคาลงถึงเกณฑ์ที่กำหนด และมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าแล้ว

นายชาคริต พืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวว่า กองทุนได้ทยอยปรับพอร์ตหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาก่อนหน้านี้แล้วช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ทำให้กองทุนมีเงินสดอยู่บ้าง จนมาถึงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา กระทบนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนที่สูง 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด จึงมีแรงขายหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวออกมามาก

“ตอนนี้คงต้องติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง มองดัชนียังมีโอกาสหลุด 1,500 จุด หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนารุนแรงขึ้น ซึ่งการกลับเข้าไปลงทุนของผู้จัดการกองทุนอาจไม่ได้ดูที่ดัชนี แต่จะดูที่ราคาหุ้นเป็นหลัก หากลงแรงเกินพื้นฐานก็อาจทยอยเข้าซื้อ”นายชาคริต กล่าว

อย่างไรก็ตามหากเทียบโรคซาร์สที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ใช้เวลา 6 เดือนกว่าดัชนีจะฟื้นตัวและในช่วงนั้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี สื่อสารได้รับผลกระทบน้อย ขณะนี้จึงเป็นกลุ่มที่น่าจะปลอดภัย ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงมองว่าหุ้นกลุ่มส่งออกก็น่าสนใจขึ้น รวมถึงหุ้นปันผล สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนได้ระยะยาวอาจแบ่งเงินส่วนน้อยทยอยลงทุนได้

ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวว่า กองทุนส่วนใหญ่น่าจะปรับพอร์ตมาบ้างแล้วตั้งแต่สงครามการค้า จนมาเจอเหตุความขัดแย้งสหรัฐกับอิหร่าน ทำให้กองทุนไม่ได้เทขายหุ้นมาก แต่การขายสุทธิของกองทุนในวันนี้ (27 ม.ค.)อาจเป็นการเลือกขายหุ้นบางตัว เพื่อรักษาผลดำเนินงานของพอร์ตโดยรวม เพราะหากถือไว้โดยไม่ทำอะไรผลงานกองทุนก็ลดลงตามตลาด ซึ่งมองว่าเมื่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนาคลี่คลายหรือมีสัญญาณที่ดีกองทุนพร้อมเข้าซื้อหุ้น

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีเชื่อว่าดัชนีหุ้นยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบไปอีกสองสามเดือน ตั้งแต่ปัจจัยทางการเมืองจนถึงการกำกับดูแลและเศรษฐกิจ จึงปรับลดเป้าหมายสิ้นปีเป็น 1,600 จุด จากเป้าเดิม 1,700 จุด Top pick ได้แก่ BBL, PTTEP, CHG, MAKRO, CPALL, AP, INTUCH, CPF, NETBAY

ทางด้านนายภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวผ่าน Conference Call ยอมรับว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีนกระทบโดยตรงต่อกลุ่มธุรกิจขนส่งและท่องเที่ยว  สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ยังต้องติดตามผลกระทบรอบด้านให้ชัดเจนก่อน เบื้องต้นมองว่ามีทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงลบและเชิงบวก ขณะที่บางธุรกิจอาจไม่ได้รับผลด้านใดเลย

ผู้จัดการตลาดยืนยันว่ามาตรการที่มีอยู่คือ เซอร์กิต เบรกเกอร์ หากตลาดหุ้นร่วงแรงไปถึง 10% สามารถรับมือกับความร้อนแรงของการซื้อขายในตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี แต่ก็เชื่อว่าในวันนี้คงไม่ถึงขั้นที่จะต้องนำมาใช้   แม้ว่าดัชนีปรับตัวลงค่อนข้างมาก  ขณะที่ตลาดหุ้นจีน และหลายๆตลาดในเอเชียยังปิดทำการเนื่องในเทศกาลตรุษจีน จึงเหลือเพียงตลาดหุ้นไทยและตลาดญี่ปุ่นที่เปิดทำการ ซึ่งการที่มีสภาพคล่องมากจึงส่งผลให้มีแรงขายออกมาจำนวนมาก”

นายภากรกล่าวถึงสถานการณ์ตลาดหุ้นว่า ได้รับกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ช่วงเช้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากอย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและขนส่งปรับตัวลงมาก  ช่วงสายทุกกลุ่มลงมาหมด แต่บางกลุ่มอย่างการแพทย์ และกลุ่มที่ได้รับผลดีจากภาวะในประเทศ ไม่ควรจะปรับตัวลดลงตามไปกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อยากจะฝากไว้  และแนะนำให้นักลงทุนติดตามข่าวสารข้อมูลให้รอบด้าน และศึกษาให้ดีก่อน โดยมองว่าการปรับตัวลงของราคาหุ้นนั้นไม่ควรเกิดขึ้นพร้อมกันทุกอุตสาหกรรม  หากกลุ่มใดได้รับผลกระทบไม่มาก และอาจจะถือว่าเป็นปัจจัยบวก ก็ควรจะมีการรีบาวด์ขึ้นได้มากเช่นกัน “นายภากร กล่าว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงมากกว่า 40 จุด เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก เป็นผลจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่เชื่อว่าจากพื้นฐานของไทยที่แข็งแกร่งจะทำให้ดัชนีฟื้นตัวขึ้นมาได้ ส่วนปัญหางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่อาจต้องล่าช้าออกไปนั้น ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมหาแนวทางเพื่อให้สภาพคล่องหมุนเวียนได้ดี แต่ขอให้รอความชัดเจนก่อน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า  ดัชนีหุ้นที่ลดลงเป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก  ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และขอแนะนำให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน