โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
“Cash is trash” ประโยคสั้นๆของ Ray Dalio ผู้ก่อตั้งและประธานของ Bridgewater บริษัท hedge fund รายใหญ่สุดในโลก ที่กล่าวให้สัมภาษณ์ระหว่างร่วมงาน World Economic Forum ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แทรกเข้ามาในสายตาของนักลงทุน ซึ่งกำลังติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยใจระทึก
เจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์ ผู้เขียนหนังสือขายดี Principles พูดดูแคลน “เงินสด” ในยามนี้ว่าไร้ค่าราวกับ “ขยะ” เพราะเขาเชื่อว่า “เงินข้างสนาม” หมายถึงเงินลงทุนที่ยังไม่กล้ากระโจนเข้าไปแสวงหากำไรในตลาดหุ้น ยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยหลักการแล้วเงินเหล่านี้น่าจะทยอยไหลเข้าสู่ตลาด และหนุนราคาหุ้นให้ทะยานขึ้นต่อไปได้
ย้อนอดีต 2 ปีที่แล้ว 23 ม.ค. 2018 ในงานสัมมนาเดียวกัน ช่วงนั้นตลาดหุ้นก็พุ่งขึ้นร้อนแรง Dalio บอกว่า “ถ้าคุณถือเงินสด คุณกำลังจะรู้สึกโง่ๆ” ดัชนี S&P 500 ผ่านจุดสูงสุดในอีก 3 วันถัดมาก่อนทิ้งดิ่ง -10.16% ใน 9 วันทำการ และสุดท้ายปลายปีนั้น “เงินสด” กลายเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด ขณะหุ้นสหรัฐฯทั้งปี -6.24% และ -11.70% จากวันที่เขาให้สัมภาษณ์
“ลุงเรย์” (Ray Dalio) พูดแบบนี้ แอบเหน็บ “ปู่บัฟเฟตต์” (Warren Buffett) หรือเปล่า? เพราะข้อมูลล่าสุดเปิดเผยว่า Berkshire Hathaway บริษัทของตำนานนักลงทุนวัย 89 ปี ถือเงินสดมากเป็นประวัติการณ์ถึง $1.28 แสนล้าน ราคาหุ้น Berkshire บวกแค่ 11% ในปี 2019 “แพ้ตลาด” มากสุดในรอบทศวรรษ (ปีที่แล้ว S&P 500 +29%) แถมคุณปู่เจ้าของฉายา The Oracle of Omaha ไม่มีดีลซื้อกิจการขนาดใหญ่มานานกว่า 4 ปีเข้าให้แล้ว สาเหตุง่ายๆคือ ของที่อยากได้มัน #แพงเกิ๊น ในยามที่ตลาดกระทิงอเมริกันอายุยืนเกือบ 11 ปีแล้ว ยาวนานสุดในประวัติศาสตร์ ระดับราคาหุ้นก็แพงหูฉี่ดูได้จาก Shiller PE (ชื่ออื่นๆเช่น Cyclically Adjusted PE, CAPE หรือ P/E10) ซึ่งคำนวณโดยนำ ราคาหุ้น มาหารด้วย กำไรเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ปรับด้วยเงินเฟ้อแล้ว ของดัชนี S&P 500 สูงเกิน 30x ชัดเจนว่าแพงมากจนเข้าข่ายภาวะ “ฟองสบู่”
มองให้ทั่วในคำให้สัมภาษณ์ Ray Dalio มิได้บอกให้ลุยหุ้นอย่างเดียว แต่ควรกระจายพอร์ตลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ และย้ำความสำคัญของ ทองคำ ว่าควรมีให้มากพอ ดังที่เคยชี้ไว้ตั้งแต่กลางปี 2019 แล้วว่า ทองจะเป็น “การลงทุนตัวท็อป” เมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบสุดขั้วแนว MMT (Modern Monetary Theory สาระสำคัญคือ ธนาคารกลางพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้ โดยไม่แคร์ว่าหนี้สาธารณะจะสูงขึ้นขนาดไหน อ่านเพิ่มเติม “แจกซะ (MM) ที!” 18 ส.ค. 2019) ส่งผลให้สกุลเงินหลักๆอ่อนค่าลง และเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ขนานใหญ่ (paradigm shift) ทั้งนี้ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว Greg Jensen ผู้ดำรงตำแหน่ง Co-CIO อีกคนของ Bridgewater (ที่นี่มี Co-CIO หลายคนและหนึ่งในนั้นคือ Dalio) เพิ่งให้เป้าราคาทอง $2,000 ต่อออนซ์ เพราะมีปัจจัยหนุนเพียบทั้ง ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสหรัฐฯ ที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนต่างๆเพิ่มความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ตลอดจนการที่เฟดปล่อยหรือพยายามชี้นำให้เงินเฟ้อเร่งขึ้น เหล่านี้ล้วนผลักดันราคาทองทะยานขึ้นต่อไปยาวๆ
ผมเป็นแฟนตัวยงของทองคำและหุ้นเหมืองทองมานานแล้ว (อ่านเพิ่มเติม “รถคันนี้สีทอง” 6 ต.ค. 2019) เห็นด้วยอย่างยิ่งกับมุมมองทองของลุงเรย์ แม้ส่วนตัวผมไม่มีเป้าใดๆแต่ก็มั่นใจ “ราคาทองมีแนวโน้มขาขึ้นระยะยาว” โดยเชื่อว่าปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่ในโลกยังถือครองทองคำกันน้อยเกินไป กระบวนทัศน์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอาจกระตุ้นให้เกิดการปรับพอร์ตครั้งใหญ่ หนุนราคาทองและหุ้นเหมืองทอง ให้มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปได้อีกมากจากระดับปัจจุบัน
เครื่องมือที่ใช้แสวงโอกาสจากราคาทองขาขึ้น นอกจากกองทุนที่เน้นลงทุนในอีทีเอฟทองคำคือ KT-GOLD แล้วก็ยังมี KT-PRECIOUS กองทุน FIF ที่กองทุนหลักเน้นหุ้นเหมืองทองและธุรกิจเกี่ยวกับโลหะมีค่า เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน