แห่หั่นเป้ากำไร-ราคา SCB ตอกย้ำกลุ่มแบงก์ถูกเมินอีกนาน

HoonSmart.com>>ผิดหวัง SCB อย่างแรง เทกระจาดกลุ่มแบงก์ ไทยพาณิชย์ราคาต่ำสุดในรอบกว่า 8 ปี วันเดียวมาร์เก็ตแคปลดลง 5 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์ดาหน้าหั่นเป้ากำไร และราคาเป้าหมาย เคจีไอให้เพียง 128 บาท ดีบีเอสฯคาด 104 บาท ส่วนแบงก์กรุงศรีอยุธยา โชว์กำไรปี 62 กว่า 3.27 หมื่นล้านบาท โต 32% TMB กำไรสุทธิปี 62 เหลือ 7.22 พันล้านบาท ลดลง 37.7%

ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) จุดพลุถล่มหุ้นธนาคารพาณิชย์ ทุบดัชนีกลุ่มดิ่งแรง 4.65% หรือ 19.86 จุด ปิดที่ระดับ 407.48จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย17,453ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้นทรุด 0.71% หรือ 11.37จุด ปิดที่ 1,589.11 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 57,944.71 ล้านบาท แรงขายนำโดยนักลงทุนสถาบันถึง 4,895 ล้านบาท

วันที่ 20 ม.ค. 2563 หุ้น SCB ปิดที่ 102 บาท ร่วง 15 บาท คิดเป็น 12.82% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 10,339ล้านบาท ทั้งนี้ ราคาหุ้นSCB ปิดต่ำสุดรอบ 8 ปี 1 เดือน ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ทรุดหนัก 50,933.85 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงแบงก์ทั้งกลุ่ม

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า กำไรสุทธิของ SCB ในไตรมาส 4/62 ออกมาต่ำเกินคาดเนื่องจากมีรายการที่ไม่ปกติหลายรายการ (ทั้งด้านบวกและลบ) โดยในด้านบวก รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 14% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 25% จากงวดปีก่อน แต่ในด้านลบ opex และ NPL กลับเพิ่มขึ้นเกินคาด ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 และ2564 ลง 6% และ 4% ภายใต้สมมุติฐาน 1.ปรับเพิ่ม credit cost ปี 2563/64 2. ลด NIM ลง 0.10% เหลือ 3.28% 3. เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และสัดส่วนต้นทุน/รายได้เป็น 46% (จากเดิม 45%) ทั้งนี้ เนื่องจาก ROE ในช่วงสองปีข้างหน้ายังคงสูงกว่าต้นทุนของเงินทุน ได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 128 บาท ลดลงจากเดิมที่ 135 บาท แนะนำ ถือ

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ลง 9% สะท้อนค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่ม และการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่มากขึ้น ซึ่งทำให้กำไรสุทธิปีนี้คาดว่าจะติดลบ 12% จากงวดปีก่อน ปรับลดราคาพื้นฐานเป็น 104 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 63F ที่ 0.85 เท่า จากเดิม 128 บาท

บล.ทิสโก้ ปรับมูลค่าที่เหมาะสมของ SCB ลง 27% เป็น 102 บาท ปรับประมาณการปี 2563-2564 ลง 19 – 10% ตามลำดับ เนื่องจาก OPEX และ Credit Cost ที่เพิ่มขึ้น บล.ทิสโก้ ปรับคำแนะนำลงเป็น “ถือ” และจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้งหลังการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 27 ม.ค. ที่จะมีการเปิดเผยป้าสำหรับปี 63

ด้านบล.ทรีนีตี้ คงราคาเป้าหมาย ที่ 160 บาท พร้อมคงคำแนะนำ “ซื้อ” ทั้งนี้ธนาคารประกาศจ่ายปันผลพิเศษ 0.75 บาท (XD 30 ม.ค. 63) คิดเป็น Dividend Yield ราว 0.64%”บล.ทรีนีตี้ ระบุ

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ปรับลดประมาณการ ลดราคาพื้นฐานเป็น 119 บาท หลังปรับลดกำไรปี 2563 เป็น 38.4 พันล้านบาท ลดลง 5.1% จากงวดปีก่อนจากการลดลงของกำไรจากการขายเงินลงทุน ปรับลดราคาพื้นฐานเป็น 119 บาท ปรับลดคำแนะนำเป็น “ทยอยซื้อ” SCB ประกาศจ่ายปันผลพิเศษ 0.75 บาท/หุ้น

แบงก์กรุงศรีอยุธยา โชว์กำไรปี 62 กว่า 3.27 หมื่นล้านบาท โต 32% จากงวดปีก่อน กวาดรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม สินเชื่อเติบโต 8.7% ตั้งเป้าปี 63 สินเชื่อขยายตัว 5-7%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) แจ้งผลการดำเนินงานประจำปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2562 มีกำไรสุทธิ 32,748.51 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.45 บาท เพิ่มขึ้น 32% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 24,812.64 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.37 บาท

ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 26.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2561)

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไม่เอื้ออำนวย ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของธนาคาร กรุงศรีสามารถรายงานกำไรสุทธิจำนวน 32.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.0% จากปีก่อนหน้า และสามารถขยายสินเชื่อได้ถึง 8.7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารที่ 6 – 8% การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2562 สะท้อนความสามารถและความคล่องตัวของธนาคารในการปรับพอร์ตสินเชื่อไปสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง และสอดคล้องกับเป้าหมายโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสินเชื่อเพื่อธุรกิจในสัดส่วน 50:50 ตามเป้าหมายระยะกลางของธนาคาร

การเติบโตของเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 8.7% หรือจำนวน 146 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เงินให้สินเชื่อมีการเติบโตครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีสินเชื่อเพื่อรายย่อยเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลัก ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นที่ 11.1% สะท้อนตำแหน่งผู้นำทางการตลาดของกรุงศรีในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจเพิ่มขึ้น 6.6%

การเติบโตของเงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 9.9% หรือจำนวน 141 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)อยู่ที่ 3.60% ปรับลดลงจาก 3.81% ในปี 2561 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย: เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 31.9% จากปี 2561 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42.9% ปรับดีขึ้นจาก 47.2% ในปี 2561 (หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของปี 2562 อยู่ที่ 45.1%) สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs): อยู่ที่ 1.98% ปรับดีขึ้นจาก 2.08% ในปี 2561

ด้านอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงแข็งแกร่งที่ 163.8% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ระดับ 16.56%

นายอาคิตะ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจโดยรวมในปี 2563 มองว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังคงเผชิญปัญหาความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ด้วยนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กอปรกับการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับ 2.5% ในปี 2563 กรุงศรีจึงตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อสำหรับปี 2563 ที่ 5 – 7% ด้วยนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่มีความรอบคอบระมัดระวัง

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 กรุงศรี มีสินเชื่อรวม 1.82 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.57 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.36 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 267.01 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 16.56% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 11.89%

ธนาคารทหารไทย (TMB) แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 7,222.48 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.1485 บาท ลดลง 37.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 11,601.24 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.2646 บาท

ส่วนงวดไตรมาส 4/2562 มีกำไรสุทธิ 1,615 ล้านบาท ลดลง 23.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานว่า ปี 2562 นับว่ามีความท้าทายไม่น้อยทั้งในเรื่องของภาพรวมทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอุตสาหกรรมธนาคาร ขณะที่ทีเอ็มบีเองก็มีโครงการรวมกิจการ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ตลอดทั้งปีทีเอ็มบีจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ มุ่งปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ M-Rate ของทั้งสองธนาคารให้อยู่ในระดับเดียวกัน การเตรียมสภาพคล่องไว้ขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ การขายหุ้นใน บลจ.ธนชาต เพื่อตอกย้ำกลยุทธ์การให้บริการกองทุนรวม Open Architecture ของทีเอ็มบี จากการเตรียมการต่างๆ เหล่านี้ จึงมั่นใจว่าธนาคารมีความพร้อมสำหรับก้าวใหม่ในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 และการดำเนินการรวมกิจการตามแผนที่ได้วางไว้

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.562 ที่ผ่านมา ในงบการเงินรวมของทีเอ็มบี จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในฐานะบริษัทย่อยเข้ามา โดยด้านงบดุลจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต ณ สิ้นสุด 31 ธ.ค.2562

ขณะที่งบกำไรขาดทุนนั้น จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตเฉพาะช่วงวันที่ 4-31 ธ.ค.2562 ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2562 ทีเอ็มบีมีสินทรัพย์ ตามงบการเงินรวม จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 0.9 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.6 ล้านล้านบาท จากผลของการรวมกิจการและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากที่เป็น Flagship Product ของทีเอ็มบี โดยเฉพาะจากเงินฝากบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี และทีเอ็มบี โนฟิกซ์ ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.7 ล้านล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารธนชาตที่รวมเข้ามา ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อยของทีเอ็มบีก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในส่วนของรายได้จากการดำเนินงานรอบ 12 เดือน ปี 2562 ตามงบการเงินรวม อยู่ที่ 39,821 ล้านบาท ลดลงจาก 48,042 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงมีสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี 2561 ซึ่งในปีดังกล่าว ทีเอ็มบีมีการบันทึกรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TMBAM 65% จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จึงทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (งบการเงินรวม ) ในปี 2561 อยู่ที่ 23,545 ล้านบาท สูงกว่า 12,956 ล้านบาท ในปี 2562

ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกไป รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 9.7% จากงวดปีก่อน มาอยู่ที่ 26,865 ล้านบาท จากรายได้จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินจากธนาคารธนชาต จะทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้น 10% โดยประมาณ