“โตโยต้า ลีสซิ่ง” รายแรกของเมืองไทย ขายหุ้นกู้ด้วยระบบบล็อกเชน

HoonSmart.com>>โตโยต้า ลีสซิ่งประกาศพร้อมขายหุ้นกู้ถี่ขึ้น หลังประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ระบบบล็อกเชนในการออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 500 ล้านบาท  ประเทศไทยพัฒนานวัตกรรมการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน สามารถขายได้เร็ว ต้นทุนต่ำลง ศูนย์รวมข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ทุกคน นำไปใช้ต่อยอด วิเคราะห์จังหวะและวงเงินในการเสนอขายได้แม่นยำยิ่งขึ้น  กรณีผิดนัดชำระหนี้แก้ไขได้มีประสิทธิภาพ

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดตัวการพัฒนาครั้งใหญ่ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย โดยบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) เป็นรายแรกของประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้วย Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบล็อกเชน (Blockchain) ภายใต้โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน หรือ Sandbox ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์( ก.ล.ต.) ภายใต้โครงการ Registrar Service Platform Phase 1 (RSP1)

นางสาวชื่นกมล บุปผาคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯจะให้ความสำคัญกับการระดมทุนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นกู้มากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีหุ้นกู้คงค้างสูงเป็นอันดับ 8 มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ด้วย Blockchain รายแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 มูลค่า 500 ล้านบาท อายุ 11 เดือน 29 วัน โดยได้รับการค้ำประกันจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ไฟแนนซ์ (เนเธอร์แลนด์) ทำให้อันดับเครดิตอยู่ในระดับ AAA เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ มีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

“บริษัทมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมในตลาดทุนไทย พร้อมจะออกหุ้นกู้ถี่ขึ้นกว่าเดิมทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระดมทุนและการขยายธุรกิจ “นางสาวชื่นกมลกล่าว

นายสอาด ธีรโรจนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ สายบริหารการเงิน ธนาคารกรุงเทพในฐานะประธานอนุกรรมการ Registrar Service Platform Phase 1 กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ทำงานและระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้เล่นในตลาดตราสารหนี้ มีทั้งธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย นายทะเบียน ผู้แทนหุ้นกู้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานก.ล.ต. ในการพัฒนาและสร้างระบบเฟส 1 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ทำให้การออกและเสนอขายรวดเร็วขึ้น  ความเสี่ยงลดลง และสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดได้อีกมาก

ทั้งนี้ ระบบใหม่มีข้อมูลแบบทันที(realtime) มีการจัดเก็บข้อมูลไม่มีอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปใช้ได้ พร้อมลดระยะเวลาในหลายขั้นตอน เช่นการจัดสรรให้กับนักลงทุนจำนวนมาก ที่ผ่านมาต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล 14 วันก็ลดลงเหลือ 7 วัน ระบจองซื้อจาก 7 วัน ลดลงเหลือ 3 วัน ขณะเดียวกันนักลงทุนก็สามารถทราบข้อมูลว่าหุ้นกู้ชุดใดจะจ่ายดอกเบี้ยหรือครบอายุวันไหน

“การไม่มีศูนย์รวมของข้อมูล ทำให้มีปัญหาในการทำงาน เช่น กรณีผิดนัดชำระหนี้ ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลกว่าจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และระบบที่พัฒนายังช่วยลดความเสี่ยงด้วย ผู้ร่วมตลาดยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย”นายสอาดกล่าว

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า  กรณีมีผิดนัดชำระ ที่ผ่านมาการดำเนินการแก้ไข จะต้องรอปิดสมุดทะเบียน ซึ่งตราสารหนี้มีนายทะเบียนหลายราย กว่าจะออกหนังสือเชิญประชุมได้มีต้นทุนและใช้เวลานาน

นอกจากนี้การพัฒนาเฟส 1 ยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้ดีขึ้น เช่น ควรจะออกตราสารหนี้เมื่อใด มูลค่า และอายุเท่าใด รวมถึงยังสามารถต่อยอดระบบบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น