HoonSmart.com>>ธปท.ยังไม่ประกาศมาตรการเพิ่มเติมดูแลค่าเงินบาท เผยภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันดูแล การแข็งค่ามากที่ผ่านมา ไม่ใช่เกิดจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ เกิดจากโครงสร้างของประเทศ ยอมรับ 5 ปีที่ผ่านมาเข้าไปแทรกแซง หนุนเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ หุ้นส่งออก-อิเล็กทรอนิกส์ผิดหวังไม่มีอะไรมาดูแล กดดัน KCE อ่อนตัวลง
เช้าวันที่ 14 มกราคม 2563 ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาท แต่กลับไม่มีอะไรออกมา โดยนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ธปท. และ ภาครัฐ ยังคงติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ถึงแนวทางในการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าจำเป็น
สำหรับแนวทางการแก้เงินบาทแข็ง นายเมธีกล่าวว่า สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มการนำเข้าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบในช่วงที่เงินบาทมีการแข็งค่า การลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) และการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบันที่ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้การนำเงินออกไปลงทุนทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการที่ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า ไม่ได้เป็นผลจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนจากการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2019 ที่เป็นการไหลออก
ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ผ่านการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และขายเงินบาท ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ โดยหาก ธปท. ไม่ได้เข้าไปดูแล เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ธปท. เห็นว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เป็นเพียงแค่อาการของปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ คือ การเกินดุลการค้าต่อเนื่อง และการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีน้อย ดังนั้น การเข้าไปดูแลค่าเงิน รวมถึงนโยบายการคลังอื่น ๆ ในระยะสั้น ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากสังเกตประเทศอื่น ๆ ที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ค่าเงินไม่ได้แข็งค่าขึ้นเท่าประเทศไทย เนื่องจากมีการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนมากขึ้น และยังช่วยลดความกดดันต่อค่าเงินได้ด้วย
สำหรับการซื้อขายหุ้นส่งออก เช้าวันนี้ ผิดหวังที่ธปท.ไม่ออกมาตรการมาดูแล กดดันให้ราคาหุ้น KCE ที่พุ่งแรงถึง 21.30 บาท อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว มาซื้อขายบริเวณ 20.50 บาท บวก 0.30 บาทหรือ 1.49%
ทางด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ออกบทวิเคราะห์ว่า สหรัฐเตรียมยกเลิกการกำหนดให้จีนเป็นผู้ปั่นค่าเงิน หนุนค่าเงินหยวนแข็งค่า 6.89 หยวนต่อดอลลาร์ เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินเอเชียแข็งค่าตาม หนุนกระแสเงินไหลเข้าเอเชีย และบวกต่อหุ้นภาคบริการของไทย(ท่องเที่ยว โรงพยาบาล) รวมถึงยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ปี 2562 สูงกว่าเป้าเล็กน้อย อยู่ที่ 7.56 แสนลบ เพิ่ม 7% จำนวนนี้มาจากพื้นที่ EEC รวม 4.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 61% ของมูลค่าทั้งหมด เป็นผลบวกต่อ AMATA และ WHA