แน่งน้อยร้อยเรื่องลงทุน : หุ้นขนาดเล็ก-กลางขาย IPO ยากขึ้น ราคาหุ้นร่วงระนาว ปี’62

 ปี 2562 เป็นปีที่มีหุ้นเข้าใหม่มากถึง 29 บริษัท และมีหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดีเข้าจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถฟันฝ่าภาวะตลาดไปได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงต่ำกว่า IPO แม้ว่าบริษัทหลายแห่งยอมกดราคาขายลงแล้วก็ตาม แต่กลับไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนเท่าที่ควร เป็นภาพสะท้อนว่าหุ้นที่เตรียมตัวจะเข้ามาใหม่ในปี 2563 น่าจะเหนื่อยมากทีเดียว โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาดึงดูดการลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) มีสมาชิกใหม่จำนวน 13 บริษัท เสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก(IPO) มูลค่า 68,712  ล้านบาท ช่วยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)จำนวน  344,269 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) มี 16 บริษัท ระดมเงินจากประชาชน  4,651 ล้านบาท เพิ่มมาร์เก็ตแคป 17,300  ล้านบาท

หุ้นใหม่ทั้ง SET และ mai เพิ่มมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 361,570.21 ล้านบาท ณ ราคา IPO แต่ปัจจุบันน่าจะลดลงมาก เพราะหุ้นส่วนใหญ่   ปรับตัวลงจาก IPO ขณะที่ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,572.92 จุดเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10 จุดจากสิ้นปีก่อน

ณ วันที่ 20 ธ.ค. น้องใหม่ใน SET มีเพียง 4 บริษัทที่สามารถยืนเหนือ IPOได้ ประกอบด้วย  ZEN (บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป) DOHOME ( บริษัท ดูโฮม) RBF (บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย) และ BAM (บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์) เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้  BAM เพิ่งเข้ามาซื้อขายวันที่ 16 ธ.ค. มีการยืมหุ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาเสนอขายหุ้นส่วนเกิน(กรีนชู) จำนวน 230 ล้านหุ้น ซึ่งยังมีเวลาในการซื้อคืนจากตลาดเพื่อส่งมอบหุ้นจนถึงวันที่ 14 ม.ค. 2563 และในวันแรกของการเข้าตลาด นาง ทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM ได้ซื้อหุ้นจำนวน 1 แสนหุ้น ในราคา 18  บาท สูงกว่า IPO ที่ 17.50 บาท

นอกจากนี้ในปี 2562 มีหุ้นที่เกิดจากการควบรวมกิจการบจ. แล้วกลับเข้ามาซื้อขายใหม่ 2 บริษัท คือ SEG (บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ )ของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี แลกหุ้น บริษัทไทยประกันภัย(TIC) และนำบริษัทโฮลดิ้ง ประกอบธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจลีสซิ่ง โดยมีบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต เป็นแกน  เข้าซื้อขายวันที่ 31 ก.ค.  วันแรกเปิดที่ 36 บาท  ถึงวันนี้ก็ปิดที่เดิม 36 บาท 

TTT (บริษัท โทเร เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย)) เกิดจากการควบรวมระหว่างบริษัทลัคกี้เท็คซ์ (ไทย)หรือ LTX กับบริษัท ไทยโทเรเท็กซ์ไทล์มิลลส์ (TTTM) เข้ามาซื้อขายเมื่อต้นเดือนก.ค. 2562 ราคาสูงเกือบ 100 บาท แต่ล่าสุดลดลงมาเหลือ 50.25 บาท 

ส่วนหุ้นใหม่ของ mai ต้องปรบมือให้กับ IP ( บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา ) ซึ่งเป็นหุ้นตัวเดียวที่ราคาหุ้นยังคงสูงกว่า IPO ประมาณ 3.57%

ขณะที่ตัวล่าสุด คือ บริษัท วิลล่า คุณาลัย (KUN) เข้าซื้อขายวันที่ 17 ธ.ค. ปิดด้วยราคาสวยเกินคาด ที่ระดับ 1.11 บาท สูงกว่าราคา IPO ที่ 1.10 บาท แต่หลังจากนั้นก็ไหลลง แม้มีแรงซื้อของผู้บริหาร 3 คน ประกอบด้วย นาง ประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นาย คุณา เทวอักษร ประธานกรรมการบริหารและนาย ไพศาล ศังขวณิชกรรมการ ก็ตาม เพราะมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของ KUN 

ขณะนี้เหลือเพียง 6 ทำการ ถึงวันสุดท้ายของการซื้อขายในปีนี้ ( 30 ธ.ค.)  ต้องติดตามดูว่าจะมีหุ้นน้องใหม่รายใดสามารถปิดสูงกว่าราคา IPOได้เพิ่มขึ้น

ส่วนในปี 2563  ตลาด IPO น่าจะคึกคัก  โดยเฉพาะช่วงต้นปี จะมีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและพื้นฐานแข็งแกร่งดาหน้าเข้ามาซื้อขายใน SET ซึ่งจะสร้างสีสัน ทำให้หุ้นจองกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง  และมีให้เลือกลงทุนมากมาย   เช่น CRC (บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น) , SCGP(บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง), SNNP (บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง ), SAV  ( บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์) และ OR (บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก)

เห็นรายชื่อบริษัทบิ๊กบึ้มขนาดนี้แล้ว หากบริษัทใดยังไม่พร้อม โดยเฉพาะเรื่อง”กำไร” ควรจะยอมถอยดีกว่า เพราะการดันทุรังเข้าตลาดด้วยวิธีการลดราคาขายหุ้นถูก ๆ เพื่อเข้าจดทะเบียนให้สำเร็จก่อน ใช่ไม่ได้ผลแล้วในเวลานี้ นักลงทุนฉลาดขึ้น เลือกลงทุนเฉพาะหุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสมเท่านั้น