HoonSmart.com>>บริษัทจดทะเบียนกลัว”เผาจริง” ในปี 2563 เร่งเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน และเพิ่มทุนจดทะเบียน พร้อมบริหารสภาพคล่องให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทขนาดใหญ่
เฉพาะในเดือนธ.ค.2562 มีบริษัทถึง 8 แห่งประกาศเพิ่มทุน แม้ว่าจะได้ราคาหุ้นไม่ดีนัก และไม่แน่ใจว่าจะขายหุ้นสำเร็จหรือไม่ แต่ก็จำเป็นต้องทำ เชื่อว่าในที่สุด ผู้ถือหุ้นใหญ่ จะต้องควักเงินใส่เข้ามาแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียน ให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
เช่น บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) บอร์ดมีมติเพิ่มทุนจำนวน 888.14 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 3.50 ต่อ 1 ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท เพื่อต้องการเงินทั้งสิ้น 2,220.36 ล้านบาท แต่ตั้งราคาสูงกว่าราคาในตลาด ล่าสุดปิดที่ 2 บาท และบริษัทยังมีผลขาดทุนอยู่ 1,615 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะดีขึ้น แต่สถานการณ์นี้คงไม่มีใครยอมจ่ายแพงกว่าตลาดแน่นอน ยกเว้น“กลุ่มจุฬางกูร”ที่ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 67% ของทุนเรียกชำระแล้ว ทำให้บริษัทการบินไทย(THAI)ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไปจากปัจจุบันที่ถืออยู่จำนวน 15.94%
ส่วนกลุ่มปตท.ที่มีนโยบายบริหารสภาพคล่องระยะสั้นภายในกลุ่ม ได้เปิดเผยเม็ดเงินที่จะให้กู้ยืมระหว่างกันออกมาแล้ว สำหรับปี 2563 โดยบริษัทปตท.(PTT) พร้อมสนับสนุนบริษัทลูก 5 แห่ง รวมเป็นเงิน 29,000 ล้านบาท ในทางกลับกันก็สามารถยืมเงินจากลูกๆ ได้เช่นกัน จำนวน 14,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ทำเหมือนกับปีที่ผ่านมา ยกเว้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC)ที่มีการเซ็นสัญญาเงินกู้กับปตท.ฉบับใหม่ เปิดวงเงินกู้ยืมไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท และพร้อมให้แม่กู้จำนวน 5,000 ล้านบาท
กลุ่มปตท.มีสภาพคล่องและกระแสเงินสดสูงมาก จากการสะสมที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ในต่างประเทศ เช่น บริษัทไทยออยล์(TOP) ออกหุ้นกู้ 565 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท อายุ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเพียง 3.5% ต่อปีเท่านั้น
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้เหลือโต 2.5% และในปีหน้าขยายตัว 2.8% เป็นการส่งสัญญาณให้คนไทยทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ โลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง
โดยเฉพาะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีความเสี่ยงสูง เพราะธรรมชาติของธุรกิจเป็นเงินหมุน เป็นกลุ่มที่ออกเสนอขายหุ้นกู้มากที่สุด หากขายของไม่ออก กำไรไม่มาตามนัด จะหาเงินที่ไหนไปชำระหนี้
ทางบริษัททริสเรทติ้งส่งสัญญาณเตือน ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิต บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN)เป็น “ลบ” จาก “คงที่” เพราะผลงานงวด 9 เดือน/2562 ต่ำกว่าคาด พร้อมปรับลดการคาดการณ์รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลงเหลือ 9,000- 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 คงไม่ถึง 1.2-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีอย่างที่เคยคาดไว้ รายได้จากคอนโดมิเนียมจะยังคงชะลอตัวต่อไปอีกในช่วง 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทลดต่ำลงกว่าระดับ 10% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าที่ทริสเคยคาดไว้ที่ระดับ 12-15%
อย่างไรก็ตามสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ที่มีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ 5,400 ล้านบาท บริษัทจะใช้วิธีต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นออกไป 12 เดือนข้างหน้า
สถานการณ์กำไรไม่มาตามนัด ไม่ใช่เกิดกับ LPN เพียงแห่งเดียว และคาดว่าในไตรมาส 4 ผลดำเนินงานของบริษัทหลายแห่งยังไม่ฟื้นตัว กดดันให้ราคาหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่อง
แต่ในทางกลับกัน ก็มีหลายบริษัทที่มีกำไรเติบโตมาก แถมยังมีฐานะการเงินและสภาพคล่องสูง ประกาศเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน เพราะเล็งเห็นโอกาสจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน อาทิ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป(LHFG) ราคาอยู่ที่ 1.33 บาท ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชี ซื้อขายที่ P/BV เพียง 0.67 เท่าและP/E 9.13 เท่าเท่านั้น
อีกเหตุหนึ่งของการเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อเตรียมไว้พยุงหุ้นในปี 2563
ขอเตือนนักลงทุนอย่าหวังผลกับโครงการซื้อหุ้นคืนมากนัก หากปัจจัยพื้นฐานไม่ดีจริง ก็ช่วยไม่ได้ !!!