“กอบศักดิ์” แนะขจัด “มุมมืด” ตลาดทุน เพิ่มคุณภาพบจ. ดึงนักลงทุนเข้าตลาด

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.จัดสัมมนาระดมสมองเพื่อพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตยั่งยืน “กอบศักดิ์” เผยตลาดหุ้นไทยเผชิญความท้าทาย 4 ด้าน โดยเฉพาะการแก้ไขประเด็นภายในตลาดเอง ติดหลุมดำ มี”เจ้า”มี”ปั่นหุ้น”หลงเหลืออยู่ หากขจัดมุมมืดออกไปบ้าง จะช่วยดึงนักลงทุนไทยและต่างประเทศเข้ามามากขึ้น แนะเพิ่มคุณภาพบจ. มากกว่าจะเน้นปริมาณเข้าใหม่ เชื่อว่าจะทำให้ตลาดเติบโตอย่างมั่นคงได้ ส่วนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เตรียมเสนอสศค.ให้บทวิเคราะห์หุ้นเป็นงาน R&D รับสิทธิประโยชน์ภาษี 3 เท่า ของบกองทุน CMDF สร้างบุคลากรตลาดทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน SEC Capital Market Symposium 2019 หัวข้อ “ตลาดทุนไทยจะรับมืออย่างไร ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลง”ว่า ตลาดทุนไทยมีการเติบโตขึ้นเป็นตลาดหุ้นชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน และมีสภาพคล่องสูงกว่าตลาดหุ้นสิงคโปร์ แต่ต้องให้ความสำคัญกับการความสร้างความยั่งยืนด้วย ภายใต้ความท้าทายที่ตลาดทุนไทยเผชิญอยู่ 4 ด้าน ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การก้าวสู่ยุคที่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 2.การใช้ประโยชน์จากบทบาทของภูมิภาคเอเชียรวมทั้งอาเซียนที่สูงขึ้นในเวทีโลก3. การส่งเสริมให้ตลาดทุนเป็นผู้นำในการสร้างความยั่งยืน และ4.การแก้ไขประเด็นที่เป็นความท้าทายภายในตลาดทุนไทย

การพัฒนาตลาดทุนไทยให้แข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ต้องกล้าทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ต้องเปลี่ยนตัวเองเอาศักยภาพที่มีอยู่ นำประสบการณ์ต่างๆมาพัฒนาและถ่ายทอด เพื่อสร้างสิ่งดีๆให้กับสังคม และสุดท้ายเป็นเรื่องการขจัดความมืดในตลาดทุน จะทำอย่างไรที่จะลดลง ” เจ้า” มีตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน “การปั่น” ยังมี ก็เห็นกันอยู่ นอกจากนี้หุ้นที่ไม่มีความเคลื่อนไหว ก็เป็นมุมมืด มีการนำบริษัทเข้าตลาด เพื่อสร้างผลตอบแทนกัน แต่ตลาดกลับเป็นสุสาน ยังมีหุ้นดีๆอยู่จำนวนมาก ต้องช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น เหมือน MINT (บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล )และ CPALL ( บริษัท ซีพี ออลล์) แทนที่จะติดบน shelf (หิ้ง) ไม่มีการซื้อขาย ต้องเปลี่ยนและนำตลาดไปสู่เชิงคุณภาพของสินทรัพย์มากกว่าเชิงปริมาณ เริ่มทำก่อนได้ประมาณ 10% เพื่อให้บริษัทเติบโต ตลาดหุ้นไทยมีสินค้าที่ดีอยู่จำนวนมาก

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยติดอยู่ในหลุมดำ ทำให้นักลงทุนที่เข้ามารู้ไม่เท่าทันผู้ที่ได้ประโยชน์ ทำให้มีนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมากเสียประโยชน์และไม่กล้าเข้ามาลงทุนอีก แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีการตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะขจัดให้หมดไปได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่ตลาดหุ้นไทยให้บริการมา 30 ปี มีจำนวนบัญชี 1.7 ล้านบัญชี แต่มีผู้ที่ซื้อขายจริงในตลาดเพียง 300,000 บัญชีเท่านั้น คำถามว่าจะปกป้องคนที่เข้ามาตลาดได้อย่างไร หากขจัดความมืดในตลาดหุ้นไทยออกไปได้บ้าง ก็จะทำให้นักลงทุนรายย่อยทั้งรายใหม่และรายเก่ามีความมั่นใจเข้าตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ ถ้าตลาดมีมุมมืดน้อยลง ก็จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสถานการณ์มากขึ้นด้วย

“ความท้าทายที่เข้ามา ก็เป็นโอกาสที่ดีของเรา ตลาดหุ้นในเอเชียมีการเติบโตขึ้นและเป็นที่สนใจเข้ามาลงทุน   ตลาดหุ้นไทยต้องคำนึงถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อใช้โอกาสในการสร้างการขยายตัวของตลาดหุ้นในประเทศให้เติบโตขึ้น เช่น ร่วมมือกับตลาดหุ้นฮ่องกง ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงสามารถเลือกซื้อหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นได้ คนจีนทั้งประเทศสามารถลงทุนได้โดยตรง ดังนั้นโอกาสมีมาก และจะได้ตลาดในมุมที่ลึก แต่เราต้องกำจัดจุดอ่อน ทำให้ตลาดมีมุมมืดที่น้อยลง คนก็จะเข้ามามากขึ้น”นายกอบศักดิ์กล่าว

ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ได้เจาะลึกพฤติกรรมนักลงทุน โดยพบว่า นักลงทุนกลุ่ม GEN X ที่มีอายุ 40-45 ปี รวมถึงนักลงทุนวัยชรา อายุ 74-100 ปี และนักลงทุนสูงอายุ ที่มีอายุ 55-73 ปี มีบทบาทต่อมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องตามช่วงอายุเก็บออม อย่างไรก็ดี  ในเชิงจำนวนนักลงทุน พบว่า GEN Y ที่มีอายุ 23-39 ปี ได้มีบทบาทในตลาดเพิ่มขึ้น จากที่มีสัดส่วนประมาณ 36% ในปี 2559 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 39% ทางด้านมูลค่าการซื้อขายก็เพิ่มขึ้น จาก 13% เป็น 14%

ทางด้านนายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในหัวข้อ “สร้างคุณค่างานวิจัย เสริมศักยภาพตลาดทุนไทย สู่ความยั่งยืน”ว่า ปัจจุบันบทวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังมีน้อยมาก และคุณสมบัติของผู้ทำวิจัยไม่ได้สูงมากนัก ส่วนใหญ่จบด้านการเงินมา ซึ่งอาจจะมีความเชี่ยวชาญไม่เท่ากับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโดยตรง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาผู้ทำวิจัยไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมสินทรัพย์และไม่ยั่งยืน ปัจจุบันมีนักวิเคราะห์อยู่เพียง 300 คน เทียบกับบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่กว่า 700 บริษัท และยังมีผลิตภัณฑ์การเงินประเภทอื่น ๆ อีกมาก สามารถวิเคราะห์หลักทรัพย์ประจำเพียง 200 บริษัทและอีก 100 บริษัทหมุนเวียนกันทำ ส่วนอีก 400 บริษัทยังไม่มีรายใดทำบทวิเคราะห์ออกมา รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ investment research ที่ให้ผู้บริโภคหาข้อมูลในการลงทุนได้นั้นตกเป็นภาระของบริษัทหลักทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว

นายไพบูลย์กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า  ขอเสนอให้กระทรวงการคลังรวมบทวิเคราะห์หุ้นเป็นการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งมีมาตรการสนับสนุน ให้สิทธิลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 3 เท่าสำหรับเงินลงทุน เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้บริษัทหลักทรัพย์เพิ่มการลงทุนด้านบทวิเคราะห์มากขึ้นและรองรับกับบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยยังอยู่ระหว่างทำแผนโครงการสร้างบุคลากรให้ตลาดทุน  เสนอของบสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยจะเริ่มจากการสร้างนักวิเคราะห์, นักลงทุนสัมพันธ์ ,ผู้จัดการกองทุน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านตลาดทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปี 2563