ทางยกระดับดอนเมือง ยื่นไฟลิ่ง ขาย 140 ล้านหุ้น เข้า SET

HoonSmart.com>>ทางยกระดับดอนเมืองเตรียมระดมทุน IPO  ใช้คืนเงินกู้ระยะสั้น-ไถ่ถอนหุ้นกู้-ทุนหมุนเวียน  

บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง  หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ ยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5.20 บาท คิดเป็นสัดส่วน 11.85% ของหุ้นที่เรียกชำระแล้วทั้งหมด โดยบริษัทฯจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีบริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

วัตถุประสงค์ของการใช้เงิน เพื่อชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน, ชำระคืนหุ้นกู้, เงินลงทุน และเงินลงทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

บริษัทฯประกอบธุรกิจบริหารโครงการสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดงจนถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 21.9 กิโลเมตร ได้รับสิทธิในการบริหารโครงการจากกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ภายใต้สัญญาสัมปทานโครงการทางยกระดับดอนเมืองเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2532 มีระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี ( 21ส.ค. 2532 จนถึงวันที่ 20 ส.ค. 2557)  ต่อมาในปี 2538 ปี 2539 และ ปี 2550 สัญญาสัมปทาน ได้มีการแก้ไข 3 ครั้ง ขยายระยะเวลาสัมปทานเป็น 27 ปี นับจากวันที่ 12 ก.ย. 2550 หรือสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 ก.ย.2577

โครงการทางยกระดับดอนเมือง (ดินแดง-รังสิต) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 28.1 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน 1. เริ่มต้นจากดินแดงถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทางรวม 21.9 กิโลเมตร ประกอบด้วยทางหลวงสัมปทานส่วนเดิม จากดินแดงถึงดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ประมาณ 180,000 คันต่อชั่วโมง และทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศเหนือ จากดอนเมืองถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ประมาณ 160,000 คันต่อชั่วโมง

2. ทางหลวงส่วนต่อขยายรังสิต เชื่อมต่อจากทางหลวงสัมปทานด้านทิศเหนือบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติถึงรังสิตบริเวณหน้าโรงกษาปณ์ ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังต่อทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศใต้ เชื่อมทางยกระดับดอนเมืองกับทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) บริเวณดินแดงระยะทาง 1.5 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทางที่ต้องการเชื่องตต่อไปยังทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)

ทางด้านผลดำเนินงานของบริษัท ณ วันที่ 30 ก.ย.2562 มีสินทรัพย์รวม 11,559.7 ล้านบาท หนี้สินรวม 4,725.4 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 6,834.3 ล้านบาท โดยงวด 9 เดือน 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 2,165.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 1,311.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 854 ล้านบาท

รายได้หลักมาจากการเก็บค่าบริการค่าผ่านทาง ในปี 2559-2561 เท่ากับ 2,952.7 ล้านบาท 2,978.2 ล้านบาท 3,024.6 ล้านบาท ตามลำดับ และงวด 9 เดือน 2561 และ 2562 เท่ากับ 2,267.7 ล้านบาท 2,126.2 ล้านบาท ตามลำดับรายได้ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปีตามปริมาณจราจรที่เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ

ด้านกำไรสุทธิ ปี 2559-2561 เท่ากับ 1,497.9 ล้านบาท 1,398.1 ล้านบาท 1,457.2 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับงวด 9 เดือนปี 2561 และ 2562 เท่ากับ 1,087.6 ล้านบาท และ 854.0 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 50.7%, 46.9% ,48.2% ,48.0% และ 40.2% ตามลำดับ ซึ่งลดลงในปี 2559-2560 เนื่องจากบริษัทฯ ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 (ปรับปรุง 2559) ส่งผลให้ต้นทุนสัมปทานในการใช้ทางยกระดับเพิ่มขึ้น

ขณะที่อัตรากำไรสุทธิปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 4.23 % จากค่าใช้จ่ายในการบริหาร และต้นทุนทางการเงินลดลง รวมถึงได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมจากเมื่อปี 2554 ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการคมนาคมบนทางยกระดับอุตราภิมุข จากกรมทางหลวง จำนวน 14.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562  เนื่องจากบริษัทฯ มีการรับรู้ประมาณการของค่าซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีเรื่องการรับรู้ค่าใช้จ่าย และประมาณการหนี้สินระยะยาว และมีค่าใช้จ่ายการซ่อมแซมทางยกระดับการให้บริการเพิ่มขึ้น  102.1 ล้านบาท

ส่วนแผนงานในการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น เส้นทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข โครงการทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข กับท่าอากาศยานดอนเมือง อยู่ในแผนงานโครงการพัฒนาฯ  บริษัทฯ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมร่วมกับ สนข. และ ทอท. เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของรูปแบบทางเชื่อมของโครงการ   โครงการทางเชื่อมต่อระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข กับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (Missing Link)

บริษัทยังมีการติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (2560-2579) ของกรมทางหลวงที่มีศักยภาพในการดำเนินการ โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทล์ลเวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ของกรมทางหลวงระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร มีจุดขึ้นลงจำนวน 8 แห่ง

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 6,142,410,560 บาท แบ่งออกเป็นหุ้น  1,181,232,800 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 5.20 บาท โดยเป็นทุนเรียกชำระแล้ว 5,414,410,560 บาท  หลังจาก IPO บริษัทฯ จะมีทุนเรียกชำระแล้ว  6,142,410,560 บาท แบ่งออกเป็นหุ้น 1,181,232,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.20 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มครอบครัวพานิชชีวะ ถือหุ้น 373.8 ล้านหุ้น คิดเป็น 35.9% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 31.6%, บริษัท เอไอเอฟ โทลโรดส์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 306.6 ล้านหุ้น คิดเป็น 29.5%  จะลด การถือหุ้นลงเหลือ 26%, กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 261.4 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.1% ลดเหลือ 22.1%