HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรฯหั่นจีดีพีปี 62 โต 2.5% ปีหน้าขยายตัว 2.7% ฝากความหวังรัฐบาลกระตุ้น ธุรกิจเตรียมรับมือหลายโจทย์หิน แบงก์เจอสินเชื่อโตเท่าปีนี้ 3.5% เอ็นพีแอลเพิ่ม NIM ลด อสังหาฯ มีสต็อกค้าง 2 แสนยูนิตถ่วง เกษตรเผชิญหลายปัจจัยลบ ท่องเที่ยวไปได้
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง “แนวโน้มธุรกิจ ท่ามกลางโจทย์หินปี 2563” เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา โดยนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2562 ลงจากเดิมที่ 2.8% มาอยู่ที่ 2.5% เนื่องจากการส่งออกได้รับผลของสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงการลงทุนโดยรวมที่โตต่ำกว่าประเมิน และความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
สำหรับในปี 2563 คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวที่ 2.7% (กรอบประมาณการ 2.5%-3.0%) โดยหวังแรงหนุนจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน บนเงื่อนไขสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และมีผลลบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชน ก็อาจทำให้จีดีพีปีหน้าวิ่งเข้าหากรอบล่างของประมาณการที่ 2.5% หรือต่ำกว่านั้น ในขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง เพราะตลาดส่งออกหลักยังมีทิศทางชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าที่คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนค่า
สำหรับทิศทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563 คาดว่าจะเผชิญ 4 โจทย์หิน ทั้งสินเชื่อที่มีข้อจำกัดของการเติบโตตามเศรษฐกิจ คาดว่าสินเชื่อโตเท่าปีก่อนที่ 3.5% เอ็นพีแอลที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากปี 2562 ค่าธรรมเนียมที่คงขยายตัวในระดับไม่เกิน 1-2% และมีโอกาสได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายของทางการ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงหรือการส่งสัญญาณของทางการที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกค้า จะกระทบรูปแบบการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก จนมีผลกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)
ด้านนางสาว เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าธุรกิจอื่นๆ ก็ประสบกับโจทย์ยากเช่นกันในปี 2563 โดยเงินบาทมีค่าเฉลี่ยแข็งค่ากว่าในปี 2562 นั้น นอกจากจะกระทบภาคส่งออกแล้ว จะส่งผลตามมาให้ภาคการผลิตหดตัวหรือลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงาน โดยในเบื้องต้นประมาณว่าการจ้างงานในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง จากปี 2562 ที่หายไปใกล้แสนตำแหน่ง ส่วนภัยแล้งในปี 2563 ที่คาดว่าจะมีภาวะแล้งรุนแรงกว่าปี2562 เพราะเริ่มต้นปีด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่น้อยกว่าเดิมมากนั้น จะกระทบปริมาณผลผลิต มีผลให้จีดีพีภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัว ส่วนจะเข้าใกล้ภาวะแล้งเป็นประวัติการณ์ดังเช่นที่เกิดในปี 2558-2559 นั้นหรือไม่ คงเป็นประเด็นติดตามซึ่งไม่เกิน 3-4 เดือนแรกของปี 2563 ก็คงมีความชัดเจนขึ้นแล้วว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเข้ามาซ้ำเติมหรือไม่
ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดนั้น แม้ว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปี 2563 จะจำกัด แต่ก็จะเพิ่มโจทย์ยากให้กับธุรกิจ โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5 บาทจากเดิม จะมีผลเพิ่มต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอีก 0.3% ขณะที่ ธุรกิจเกษตร จะเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบทั้งค่าเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และค่าแรงพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้ภาครัฐอาจต้องเตรียมนโยบายเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มนี้ ขณะที่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่ฟื้นตัว เพราะปัญหาที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมที่ยังมีอยู่อีกราว 200,000 หน่วยนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะสามารถเคลียร์ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
ธุรกิจที่ยังไปได้ คงเป็นธุรกิจท่องเที่ยว แม้จะเห็นอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะชะลอลงมาที่ประมาณ 2-3% จากที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวราว 4% ในปี 2562 แต่ก็ยังมีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้ ทั้งนักท่องเที่ยวจีน อาเซียน และอินเดีย รวมถึงตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งภาครัฐสามารถส่งเสริมหรือออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนุนเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้ เพราะมีสัดส่วนต่อจีดีพีรวมถึง 18%