HoonSmart.com>>สตาร์เฟล็กซ์ เปิดจอง IPO ที่ 3.88 บาท/หุ้น วันที่ 11-13 ธ.ค. คาดนำหุ้นเข้าซื้อขายใน SET วันที่ 19 ธ.ค.62 มั่นใจนักลงทุนตอบรับดี ราคาเหมาะสม เสนอจุดเด่น ประสบการณ์ 30 ปี ผู้นำบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน เจาะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ลงทุนพัฒนาสินค้า-วัตถุดิบทันความต้องการ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์จับมือลูกค้าโตด้วยกันระยะยาว
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นบริษัท สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX) เปิดเผยว่า บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 110 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.88 บาท/หุ้น จากราคาพาร์ 1 บาท โดยจะเสนอขายให้แก่ประชาชนจำนวน 99 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ จำนวน 11 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 11-13 ธ.ค. 2562 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย( SET) หมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ในวันที่ 19 ธ.ค. 2562
“มั่นใจว่าหุ้นของ SFLEX จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากราคาขายที่ 3.88 บาท มี P/E ประมาณ 24.5 เท่า ถือว่าเหมาะสมกับพื้นฐาน และสอดคล้องกับสภาวะตลาดหุ้นที่ใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว นอกจากนี้ราคายังต่ำกว่าหุ้นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นคู่แข่งต่างประเทศ เช่น บริษัทมาซากิ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฟินแลนด์ เทรดที่ P/E 25 เท่า และบริษัทอันคอน บริษัทในตลาดหุ้นออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา P/E 27 เท่า “นายสมภพกล่าว
ทั้งนี้ จากการได้ทำงานร่วมกับสตาร์เฟล็กซ์มานานกว่า 3 ปี มองเห็นถึงจุดแข็งและจุดเด่นของธุรกิจ ไม่เหมือนหุ้นบรรจุภัณฑ์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นตอนนี้ โดย SFLEX เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนชั้นนำในประเทศ ตามคำสั่งของลูกค้า มีลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ , บริษัท นีโอแฟคทอรี่ , บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) และบริษัท ไอ.พี. แมนูแฟคเจอริ่ง เป็นต้น เช่นผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูป และผงซักฟอกหลายแบรนด์ ซึ่งมีกระบวนการคัดเลือกผู้จัดจำหน่าย (ซัพพลายเออร์) ที่มีมาตรฐานสูง การที่บริษัทสามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าดังกล่าวได้ จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานของสินค้าเป็นที่ยอมรับจากคู่ค้าระดับสากล
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ยอดขายมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง และบริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าทั้งบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภค และขยายตลาดไปยังกลุ่มสินค้าบริโภคมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนยอดขายจากบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 15.23% ในปี 2561 เป็น 20.18% ในงวด 9 เดือน/2562
นายปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร SFLEX เปิดเผยว่า บริษัทเจาะลูกค้าระดับ A และระดับ B+ เท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่สั่งซื้อสินค้าตามความต้องการใช้ทั้งปี ทำให้บริษัทสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักประมาณ 60-70% ของการผลิต มีเวลาในการเลือกสั่งซื้อสินค้าจากเกาหลี จีน อินเดียและเวียดนาม ได้ราคาที่ดีที่สุด
ส่วนแผนการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทเตรียมนำเงินทั้งสิ้น 426.80 ล้านบาท ในการลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฟิล์มประเภทที่ใช้ในการปิดผนึกขึ้นรูป 140 ล้านบาท สร้างคลังสินค้า 50 ล้านบาท รวมถึงชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวทั้งหมด 95 ล้านบาท ช่วยลดภาระดอกเบี้ยในอัตรา MLR ลบ 1% หรือประมาณ 5 % ต่อปี ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.6 เท่า จากปัจจุบันที่ 1.5 เท่า
ประธานกรรมการบริหาร SFLEX กล่าวถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจว่าบริษัทมีเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนทั้งในประเทศไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับลูกค้าในระยะยาว นอกจากการสั่งซื้อสินค้าแล้ว ยังร่วมกับลูกค้าในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการและสถานการณ์ทางการตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดที่หันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิล และการใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาในปี 2559-9เดือนปี 2562 มากกว่า 4 ล้านบาท/ปี
“มั่นใจว่าหุ้น SFLEX จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เพราะบริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มากกว่า 30 ปี และเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 หรือ 2 ของประเทศที่ส่วนแบ่งตลาด 4.5% ของมูลค่าตลาด บรรจุภัณฑ์เกรด A และ B+ ที่มูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท “นายปรินทร์ธรณ์ กล่าว
ทางด้านผลประกอบการในปี 2559-2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,181 ล้านบาท 1,353 ล้านบาท 1,374 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 33.29 ล้านบาท 146.63 ล้านบาท 136.11 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี2562 บริษัทมีรายได้รวม 943 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 46.42 ล้านบาท