ทีเอ็มบีรวมธนชาตสำเร็จ 3 ธ.ค.62 มุ่งมั่นผลักดันให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินดีขึ้น

HoonSmart.com>>3 ธันวาคม 2562 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ตรงกับวันที่ธนาคารทีเอ็มบี เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของธนาคารธนชาต (TBANK) และในวันเดียวกันนั้น บริษัททุนธนชาต (TCAP) และบริษัทในกลุ่มธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย (BNS) ก็เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารทีเอ็มบี เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารภายหลังการรวมกิจการ ทำให้ธนาคารใหม่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ด้วยสินทรัพย์รวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท และฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10 ล้านราย เพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

 

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า “คณะกรรมการธนาคาร ทีมผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานธนาคารทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตทุกคน ขอขอบคุณผู้ถือหุ้น และนักลงทุนทุกท่านที่มีความเชื่อมั่น และให้การสนับสนุนการระดมทุนจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในส่วนของผู้ถือหุ้นที่เข้าใช้สิทธิ TMB-T1 เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการใช้สิทธิมากถึง 90% รวมทั้งนักลงทุนในประเทศที่เข้าลงทุนในตราสารด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 มูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าลงทุนในตราสารที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) มูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท”

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลงสาขาใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน

“เราเชื่อว่าการผนึกกำลังกันในครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถบริการลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึงช่องทางการให้บริการ ทำให้ธนาคารมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทยได้ดียิ่งขึ้น เราจะพยายามให้มากกว่าที่ผ่านมา เพื่อช่วยผลักดันให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น สร้างสังคมที่เข้มแข็งและสร้างความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมไทยต่อไป” ปิติ กล่าว

ในอนาคตธนาคารใหม่ นอกจากจะเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการรวมกิจการระหว่างธนาคารทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาต นั่นคือ ยังได้ผู้บริหาร ทีมงาน และธุรกิจใหม่ ส่งผลให้ธนาคารใหม่ก้าวขึ้นสู่เบอร์ 1 ของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของพอร์ตสินเชื่อนี้อยู่ในระดับต่ำ ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในภาพรวม

การรวมกิจการยังมีขั้นตอนอีกมากมาย โครงสร้างการถือหุ้นใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง โดยนอกเหนือจากผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดิมอย่าง ING และกระทรวงการคลัง ก็มีผู้ถือหุ้นหลักรายใหม่ ได้แก่ ทุนธนชาต ซึ่งที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพิ่งมีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการใหม่ 2 คน จากทุนธนชาต ได้แก่ ศุภเดช พูนพิพัฒน์ และ สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ นอกจากนั้น ก็ได้มีการเสริมทัพทีมผู้บริหารระดับสูง พร้อมเดินหน้ากระบวนการรวมการดำเนินงาน หรือ Business Integration โดยตามแผนแล้ว การดำเนินการรวมกิจการทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564

ธนาคารทีเอ็มบีเมื่อรวมกับธนาคารธนชาต จะมีพนักงานรวมกันประมาณ 20,000 คน แต่ไม่ต้องกลัวเรื่อง”คนจะล้นงาน” หรือจะต้อง”เอาคนออก” เพราะธนาคารก็มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว โดยเฉลี่ยธนาคารแต่ละแห่งจะมีคนลาออกอยู่แล้วประมาณ 15% ในแต่ละปี ซึ่งอัตราการลาออกตามปกติดังกล่าว ก็จะสนับสนุนธนาคารหลังการรวมกิจการให้มีขนาดกำลังคนที่สอดคล้องกับจำนวนพนักงานที่ธนาคารต้องการเพื่อรองรับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันการรวมพนักงานที่มีความสามารถ นำจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย พร้อมกับการปรับค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสมในหลายด้าน เช่น การตลาด และ IT ด้วยฐานทรัพยากรที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยในการ Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน มีการนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของคนไทยได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นคำตอบของการรวมกิจการระหว่างสองธนาคาร ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ลูกค้า รวมถึงระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

อ่านข่าว

TMB ซื้อแบงก์ธนชาต 1.67 แสนลบ. เพิ่มทุนขายกลุ่ม TCAP 2.16 บาท/หุ้น