ความจริง ความคิด : เรามองความเสี่ยงผิดไปรึเปล่า

คอลัมน์ความจริง ความคิด
โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

หากถามว่าระหว่างเงินฝากกับหุ้น อย่างไหนเสี่ยงกว่ากัน ผมว่าเกินครึ่งคงตอบว่า หุ้นเสี่ยงกว่า เพราะมีหลายคนเจ็งหุ้นจนถึงในอดีตมีคนฆ่าตัวตายเพราะหุ้นก็หลายคน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกจากประมาณ 1700 จุด เหลือประมาณ 200 จุด แถมสำนักงาน ก.ล.ต. ก็เตือนเสมอ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การลงทุนมีความเสี่ยง ทุกสิ่ง ทุกเวลา ทุกที่มีความเสี่ยงหมด ไม่ว่าเราจะป้องกันมันอย่างดีแค่ไหนก็ตาม ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายคนรักษาสุขภาพอย่างดี แต่สุดท้ายก็เป็นมะเร็ง หรือ หลายคนไม่ยอมขึ้นรถทัวร์ เพราะกลัวอุบัติเหตุ แต่สุดท้ายก็ประสบอุบัติเหตุภายในบ้าน เป็นต้น

ดังนั้น การบริหารความเสี่ยง จึงขึ้นอยู่กับว่า เรามองความเสี่ยงยังไง และความเสี่ยงไหนที่เราอยากหลีกเลี่ยง ความเสี่ยงไหนที่เรายอมรับได้ คงไม่คุ้มที่เราจะป้องกันทุกๆความเสี่ยง อย่างเช่น การซื้อประกันสุขภาพ เพื่อแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาล ส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะคุ้มครองผู้ป่วยใน น้อยคนจะซื้อคุ้มครองผู้ป่วยนอก เพราะค่าเบี้ยจะแพงมาก ไม่คุ้มที่จะซื้อ และหลายกรณีเป็นไปไม่ได้ที่จะคุ้มครองความเสี่ยง อย่างเช่น การซื้อประกันสุขภาพเช่นกัน ช่วยบริหารความเสียหายของเราหลังจากเหตุเกิดแล้ว แต่ไม่ได้ป้องกันไม่ให้เหตุเกิด เป็นต้น

ในเรื่องของการลงทุน หากเรามองความเสี่ยง คือ การไม่ขาดทุน มองเผินๆ การฝากเงินอาจเป็นคำตอบที่ดี เพราะเงินต้นเราไม่หายไปไหน แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ เราไม่ขาดทุนจริงหรือ? เพราะจะมองว่าเราขาดทุนหรือไม่ ควรมองว่าความมั่งคั่งของเรามากกว่าหรือเท่าเดิมหรือเปล่า หลายคนโดยเฉพาะคนที่เกษียณอายุคงเข้าใจความรู้สึกนี้ดี เพราะตลอดชีวิตทำงาน เงินที่เก็บหอมรอมริบมาตลอดหลายสิบปีไม่ได้ขาดทุนเลยแถมเพิ่มขึ้นทุกๆปี แต่เมื่อถึงวันเกษียณอายุ วันที่จะต้องใช้ชีวิตที่เหลือบนเงินก้อนนี้ จะรู้สึกเหมือนกันเลยว่า เงินที่เก็บมาตลอดชีวิต บางคนอาจมีเป็นล้าน แต่เมื่อเทียบกับค่าเงินหรือค่าใช้จ่ายในปัจจุบันกลับมีค่าน้อยมาก มองแล้วไม่สามารถอาศัยเงินก้อนนี้จนถึงวันตายได้แน่นอน

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่มองความเสี่ยงผิด จะมองความเสี่ยงว่าไม่ขาดทุน ควรมองที่ค่าเงินจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่คนไทยนิยมฝากกันมาก อยู่ที่ 0.5% / ปี ฝาก 100 บาท สิ้นปีได้ 100.50 บาท ไม่ขาดทุน แต่ข้าวของเราแพงขึ้นปีนึงไม่ใช่แค่ 0.5% แต่เป็น 1.49% (อ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 1 มิถุนายน 2561) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า อัตรา ดอกเบี้ยที่แท้จริง จะมีค่าลดลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง กรณีนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี

แต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 1.50 กล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ อยู่ที่ร้อยละ -1 ต่อปี เท่านั้น เท่ากับเราขาดทุนจากการฝากออมทรัพย์ปีละ 1% และหากปีต่อไปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2 อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็นร้อยละ – 2 ต่อปี เราจะยิ่งขาดทุนไปอีก เมื่อผลตอบแทนโตไม่ทันของแพง สุดท้ายเราก็จะมีปัญหาการเงิน อาจเป็นหนี้ในอนาคตต่อไป

สุดท้ายขอฝากคำพูดของ Robert G. Allen ที่เคยพูดว่า “How many millionaires do you know who have become wealthy by investing in savings accounts” (“คุณรู้จักเศรษฐีสักกี่คนที่รวยขึ้นมาจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์”)