สศอ.เผย MPI เดือนต.ค.หด 8.45% หวังปี 63 มาตรการรัฐหนุนขยายตัว 2-3%

HoonSmart.com>> สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนต.ค.62 หดตัว 8.45% จากงวดปีก่อน หดตัวลงต่ำกว่าคาดจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง ผลกระทบสงครามการค้ายังกดดัน คาดแนวโน้มปี 63 ขยายตัว 2-3% GDP ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.5-2.5% หวังนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนักลงทุนมีการย้ายสายการผลิตมาลงทุนในไทย

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนต.ค.2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.45% อยู่ที่ระดับ 95.70% โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และแปรรูปและถนอมผลไม้และผัก สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยในเดือนต.ค.2562 มีมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ)

ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.83% เนื่องจากอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันบางรายมีการหยุดซ่อมบำรุงตามรอบปี ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมลดลง อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงมีการผลิตขยายตัวดีในเดือนตุลาคม ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, Hard Disk Drive ,สัตว์น้ำแช่เย็นหรือแช่แข็ง ,เบียร์,สบู่ และสารซักฟอก เคมีทำความสะอาด

ทั้งนี้ สศอ. ยังได้พิจารณาข้อมูลทางเทคนิคของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ส่งผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้ โดยโรงกลั่นน้ำมันที่หยุดซ่อมบำรุง 2 แห่งนั้น มีการผลิตคิดเป็น 36% ของการผลิตทั้งหมด

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของรายอุตสาหกรรมสำคัญปี 2563 นั้น อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีการผลิตและการส่งออกในปี 2563 ขยายตัวเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 1.2 – 1.5 และ 2.7 – 3 ตามลำดับ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะได้รับผลบวกจากวัฏจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในภาวะฟื้นตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง คาดว่าจะขยายตัว 1.27% อุตสาหกรรมพลาสติก คาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อย 1.33% อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ คาดว่าการผลิตจะขยายตัวร้อยละ 2.18 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.09 อย่างไรก็ตามในปี 2563 ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า การผลิตและการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยฃ

สำหรับแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบ จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม สศอ. จึงได้เสนอแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบโดยแบ่งเป็นแนวทางในระยะสั้น และระยะกลาง ดังนี้ แนวทางระยะสั้น ได้แก่ 1. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ 2. กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ 3. เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และ 4. ดูแลสถานการณ์ค่าเงินเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

ส่วนแนวทางระยะกลาง ได้แก่ 1. เร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ (S Curve) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานศักยภาพ เช่น Bio Economy และ Circular Economy 2. ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้ง การใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถ 3. Upskill/Reskill แรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และบรรเทาการว่างงาน 4. มาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเริ่มลงทุนจริงในปี 2563 และ 5. ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการเพิ่มผลิตภาพ ลดค่าใช้จ่าย และพิจารณาเพิ่มการลงทุนในกรณีที่มีสภาพคล่อง