โบรกเกอร์บักโกรก ครึ่งปี 62 ขาดทุน 19 แห่ง

HoonSmart.com>>ภาพรวมครึ่งปีแรก โบรกเกอร์ขาดทุนครึ่งหนึ่ง คือ 19 ราย จากทั้งหมด 38 ราย โบรกเกอร์ไทยแท้สาหัสขาดทุนยับ จับตาครึ่งปีหลังหนักกว่านี้ จากความซบเซาของภาวะตลาด

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(โบรกเกอร์) ทั้งหมด 38 แห่ง รายงานผลประกอบการครึ่งปี 2562 สิ้นสุด 30 มิ.ย. 2562  มีกำไรสุทธิรวม 3,510 ล้านบาท ลดลง 37%  เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2561  โดยมีบริษัทขาดทุนถึง 19  แห่ง  จากทั้งหมด  38  บริษัท

โบรกเกอร์ต่างชาติ จำนวน 16 แห่ง ขาดทุน 8 แห่ง  โดยโบรกเกอร์ที่กำไรมากสุดอันดับ 1 คือ  บล.เคจีไอ (ประเทศไทย ) กำไรสุทธิ 505 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 / 62 ซึ่งมีกำไร 310 ล้านบาท และบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ขาดทุนมากสุด 135 ล้านบาท   ส่วนบล.ฟิลลิป หากคิดงบการเงินรวมมีกำไร 34 ล้านบาท  แต่งบเฉพาะกิจการกลับขาดทุน 31 ล้านบาท   ส่วน บล. ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ขาดทุน 27 ล้านบาท บล.แมคควอรี ขาดทุน  10 ล้านบาท

โบรกเกอร์ไทย ที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น 8 แห่ง ขาดทุน 1 แห่ง  โดยบล.บัวหลวง กำไรสูงสุด 344 ล้านบาท   และบล.กรุงศรี ขาดทุน 21 ล้านบาท ส่วนบล.ทิสโก้ หากคิดงบการเงินรวม ขาดทุน 25 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นงบเดี่ยวกลับมีกำไร 8 ล้านบาท

ขณะเดียวกันโบรกเกอร์ที่ไม่มีแบงก์ถือหุ้น  14 แห่ง ขาดทุนถึง 10 แห่ง  ซึ่งโบรกเกอร์ที่กำไรสูงสุดคือ บล.คันทรี่กรุ๊ป ( CGS )  และขาดทุนหนักสุด บล.ฟินันเซีย ไซรัส ขาดทุน 86 ล้านบาท บล.เมอร์ชั่น  ขาดทุน 18 ล้านบาท

แหล่งข่าวโบรกเกอร์ กล่าวว่า โบรกเกอร์ไทยแท้ ซึ่งไม่มีสถาบันการเงินถือหุ้น จำนวน 14 แห่ง ประสบปัญหาผลประกอบการขาดทุนกว่าครึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแล ที่ออกกฎเกณฑ์เข้มงวด ไม่เอื้อการเก็งกำไร จะเห็นว่านักลงทุนรายย่อย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ออกจากตลาดไปจำนวนมาก และบรรดาเสี่ยรายใหญ่ชื่อดัง อาทิ เสี่ยปู่ เสี่ยยักษ์ หรือเสี่ยนเรศ พักการลงทุนมานานแล้ว

นอกจากนี้ระบบซื้อขายที่เอื้อต่างชาติลงทุนมากกว่ารายย่อย เช่น การพัฒนา AI หรือโรบอต เป็นเครื่องมือซื้อขายให้กับต่างชาติ และการส่งคำสั่งซื้อขาย DMA ซึ่งวิ่งตรงจากลูกค้าไปยังตลาดหลักทรัพย์ รวดเร็วกว่าที่นักลงทุนรายย่อยยังต้องส่งผ่านโบรกเกอร์

“ผลการศึกษาของตลาดหลักรัพย์ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สรุปได้ว่า นักลงทุนรายยย่อย ลดสัดส่วนการลงทุนไปมาก ลูกค้าหายออกไปจากตลาด หรือลดพอร์ตลงทุนเล็กลง โบรกเกอร์ที่ยังกำไรอยู่ แต่ก็เป็นตัวเลขที่ลดลง เพราะมีธุรกิจไอบี ขายหุ้นไอพีโอไซด์ใหญ่ เช่น บล.บัวหลวง บล.ภัทร  หรือมีธุรกิจให้ยืมใบหุ้น บล็อกเทรด พอร์ตลงทุน จะพอเห็นกำไร แต่โบรกเกอร์ไทยแท้ ไม่มีแบงก์หนุนเงินทุน ไม่มีฐานลูกค้าแบงก์ซับพอร์ต ทำธุรกิจค่อนข้างลำบาก ครึ่งปีหลัง 2562 จะหนักกว่าครึ่งปีแรก จากความซบเซาของตลาด และภาวะเศรษฐกิจ โบรกเกอร์จะหันมาลดคน ปิดสาขา แข่งขันการลดค่าคอมมิชชั่น อีกครั้ง ” แหล่งข่าวกล่าว