บลจ.กรุงศรีเปิดตัว 4 กองทุน RMF ลงทุนต่างประเทศสร้างพอร์ตเติบโต

HoonSmart.com>> บลจ.กรุงศรี ออกกองทุน RMF 4 กองใหม่ คัดธีมลงทุนมีโอกาสเติบโตสูง รับดอกเบี้ยขาลง บริหารความผันผวนได้ดี โอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งตราสารหนี้ หุ้นดัชนี และหุ้นชั้นนำทั่วโลก เพิ่มโอกาสเติบโตของพอร์ตควบคู่กับสิทธิลดหย่อนภาษี เสนอขายครั้งแรก 15 – 22 ต.ค.นี้ ลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท

สุภาพร ลีนะบรรจง

นางสุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเปิดเสนอขายกองทุน RMF ใหม่ 4 กองทุน ซึ่งคัดสรรมาจากธีมการลงทุนที่มีโอกาสเติบโตสูง รับดอกเบี้ยขาลง และจัดการความผันผวนได้ดี ได้แก่ กองทุนKFSINCFXRMF, KFWINDXRMF, KFGLOBALRMF และKFGLOBFXRMF เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับทั้งผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงให้กับพอร์ต และผู้ที่เน้นโอกาสรับผลตอบแทนสูงจากหุ้นชั้นนำทั่วโลก ไปพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี

หากเน้นความมั่นคง ไม่ต้องการเสี่ยงสูง กองทุนตราสารหนี้เป็นคำตอบ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่จะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง เราจึงแนะนำกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลสมาร์ทอินคัมเอฟเอ็กซ์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFSINCFXRMF) ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก PIMCO GIS Income Fund กระจายการลงทุนในตราสารหนี้หลากหลายประเภททั่วโลกทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน PIMCO มีความเชี่ยวชาญในการบริหารกองทุนตราสารหนี้ ใช้การปรับพอร์ตอย่างยืดหยุ่นในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง กองทุนจึงมีผลงานที่ดี ได้รับ Morningstar Rating 5 ดาว*” (ที่มา *Morningstar rating จาก PIMCO ณ 31 ก.ค. 67 ผลการดำเนินงานอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต / รางวัลและการจัดอันดับดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด)

สำหรับผู้ที่เน้นโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีจากหุ้นทั่วโลก บลจ.กรุงศรี เปิดทางเลือกให้ลงทุนได้ทั้งกองทุนเชิงรับที่ลงทุนหุ้นตามดัชนี และกองทุนเชิงรุกที่เน้นการคัดเลือกหุ้นเพื่อเป้าหมายผลตอบแทนที่สูงกว่า

กองทุนเปิดกรุงศรีเวิลด์อิควิตี้อินเด็กซ์เพื่อการเลี้ยงชีพ(KFWINDXRMF) มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก iShares MSCI ACWI ETF อ้างอิงกับดัชนี MSCI ACWI Index ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 1.88 หมื่นล้านเหรียญ พอร์ตการลงทุนหลักเข้าถึงหุ้นทั่วโลกที่มีโอกาสเติบโตและได้รับแรงหนุนจากดอกเบี้ยขาลง กระจายการลงทุนทั้งในตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ครอบคลุมกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน เฮลท์แคร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่หลากหลายมากกว่า 2,000 บริษัท ส่งผลให้กองทุนไม่ผันผวนไปตามอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป ตัวอย่างหุ้นของกองทุนหลัก เช่น APPLE, ALPHABET, AMAZON, ELI LILLY และMICROSOFT เป็นต้น” (ที่มา: ข้อมูลกองทุน จาก FFS ของกองทุนหลัก ณ 30 มิ.ย. 67)

กองทุนเปิดกรุงศรี Global Unconstrained Equity เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGLOBALRMF) และกองทุนเปิดกรุงศรี Global Unconstrained Equity FX เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGLOBFXRMF) มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก BlackRock Global Unconstrained Equity Fund ได้รับ Morningstar Rating 5 ดาว* โดดเด่นด้วยกลยุทธ์การคัดหุ้นคุณภาพจากทั่วโลก ให้ความสำคัญกับศักยภาพการเติบโตและปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท โดยที่ไม่ยึดติดกับประเภทหุ้น อุตสาหกรรม หรือดัชนีชี้วัด เพื่อโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างผลตอบแทนที่ดี บนระดับความผันผวนที่ไม่มากจนเกินไปทั้งในวัฎจักรเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลง จึงสามารถใช้เป็นพอร์ตหลักของการลงทุนได้

“จุดเด่นของกองทุนหลักนอกจากการคัดเลือกหุ้นคุณภาพดีทั่วโลกเข้าพอร์ตแล้ว สัดส่วน 50% ของพอร์ตจะลงทุนในธุรกิจที่มีความทนทานต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้พอร์ตในช่วงเศรษฐกิจขาลง ส่วนที่เหลือจะกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทธุรกิจที่มีศักยภาพสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม พอร์ตปัจจุบันมีการลงทุนใน 3 ธีมหลักได้แก่ 1) บริษัทที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีตำแหน่งเป็นผู้นำตลาด 2) เป็นหุ้นของบริษัทที่มีเทคโนโลยี หรือมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ 3)เป็นบริษัทที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของผลตอบแทน ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนปัจจุบันเน้นการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีน้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯและยุโรป”

กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานย้อนหลังระยะยะยาวที่ดี โดยผลการดำเนินงานย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 9% เทียบกับดัชนีชี้วัด MSCI World อยู่ที่ 7% ผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุน(ต่อปี) อยู่ที่ 15% ดัชนีชี้วัด MSCI World อยู่ที่ 11%”นางสุภาพร กล่าว (ที่มา : BlackRock ณ 30 มิ.ย. 67 /ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต / ผลการดำเนินงานที่แสดงเป็นผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)