HoonSmart.com>>5 หุ้นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าซื้อขายในเดือนพ.ย. 2562 ราคาไหลลงแรง คาดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเรื่องผลการดำเนินงาน 2. ตั้งราคาขายแพงเกินไป 3. ภาวะตลาดไม่ดี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ต้องรอเวลาพอสมควร ถึงจะดึงดูดให้นักลงทุนหันกลับมาสนใจ..
ในปี 2562 มีหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 11 บริษัท มูลค่าระดมทุน 75,883 ล้านบาท และ 13 บริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) ระดมทุน 4,141ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 80,024 ล้านบาท ถือว่าสูงพอสมควร ในสถานการณ์ที่มีปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามารบกวนการลงทุนตลอดทั้งปี ทำให้หุ้น IPO หลายตัวสอบตกสำหรับการเข้าซื้อขายในวันแรก โดยเฉพาะหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนตามเกณฑ์มาร์เก็ตแคป (มูลค่าหุ้นตามราคาตลาด) บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) และ บูทิค คอร์ปอเรชั่น (BC) ราคาร่วง 20% และ 30% ตามลำดับ เพราะตกใจผลขาดทุนในงวดไตรมาส 3/2562
หากมีการเปรียบเทียบ SHR มีภาษีที่ดีกว่า BC นอกจากเข้าจดทะเบียนใน SET แล้ว ผลการดำเนิงานก็ดีขึ้น เหลือขาดทุนเพียง 98 ล้านบาท ตีตื้นจาก 156 ล้านบาทในไตรมาส 2 ขณะที่ BC พลิกจากที่มีกำไร 98 ล้านบาท มาติดลบ 69 ล้านบาท เนื่องจากรายได้รวมลดลง 4 ล้านบาทหรือ 8.2% เหลือจำนวน 47 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะมีการลงทุนโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว
ที่สำคัญ SHR กำหนดราคาขายที่ 5.20 บาท/ หุ้น เท่ากับมูลค่าหุ้นตามบัญชี (บุ๊กแวลู) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562
BC บริษัทใน mai ขายในราคาหุ้นละ 2.86 บาท สูงกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีที่ 1.72 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) 1.66 เท่า หรือเพิ่มเป็น 2.47 เท่าหลังขายหุ้นไอพีโอ
แหล่งข่าวจากวงการวาณิชธนกิจ (ไอบี) กล่าวว่า พฤติกรรมของนักลงทุนที่ชอบหุ้น IPO มักจะให้ความสำคัญกับข่าวดีในระยะสั้น มากกว่าแนวโน้มในระยะยาว หากยังมีความไม่แน่นอนว่าไตรมาส 4 จะขาดทุนอีกหรือไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบเข้าซื้อหุ้น รอจนกว่าจะเห็นสัญญาณบวก ซึ่งผลกำไรหรือขาดทุนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพิสูจน์ผลงาน
ส่วนหุ้นน้องใหม่ที่ไม่ขาดทุน ในไตรมาส 3/2562 แต่เห็นว่ากำหนดราคาขายแพงเกินไป เมื่อพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่ดูตัวเลขทางการเงินเท่านั้น จุดเด่นของธุรกิจก็มีส่วนสำคัญ
บริษัทมักจะใช้ P/E (สัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น) แล้วให้ส่วนลด เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทในตลาดที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน เช่น กรณี บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) ประกอบธุรกิจพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง ขายในราคา 7 บาท/หุ้น กำหนดที่ P/E 53.85 เท่า เทียบกับหุ้นบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) ที่ราคา 33.14 บาท เทรดที่P/E 24.34 เท่า หรือ บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ (APCO) ที่ 3.89 บาท P/E 25.72 เท่า หากใช้ราคาหุ้นในปัจจุบัน IP ที่ 7.95 บาท ความน่าสนใจก็ยิ่งลดลง P/E ขึ้นไป 58 เท่า
นอกจากนี้ IP ขาย 7 บาท แต่มีมูลค่าหุ้นทางบัญชีเพียง 80 สตางค์เท่านั้น
จุดอ่อนของหุ้น IP อยู่ที่ก่อนขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป ได้ขายหุ้นจำนวน 150,000 หุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ราคาพาร์ 100 บาท ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงพาร์มาเหลือหุ้นละ 0.50 บาท เพื่อขาย 7 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) โฮลดิ้งที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ กำหนดราคาขายที่ 4.40 บาท ถือเป็นราคาสูงสุดจากช่วงราคาที่ 4.00-4.40 บาท หลังนักลงทุนสถาบันเสนอราคาและจองซื้อล้น เพราะบริษัทเปิดขายหุ้นในช่วงที่หุ้นไฟฟ้าฮอตมากๆ แต่บริษัทมีมูลค่าหุ้นทางบัญชีเพียง 0.65 บาท ณ มิ.ย. 2562 และหุ้นมีราคาพาร์ 0.50 บาทเท่านั้น แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3 จะเติบโตกว่าเท่าตัว เป็น 228 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 111 ล้านบาทตามการขยายการลงทุน เพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็ตาม แต่ราคาหุ้นก็มีโอกาสอ่อนตัวลงตามภาวะตลาดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่จะต้องเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เข้าไปซื้อหุ้น โดย “พรเมตต์ ทรงเมตตา” กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ AEC แจ้งว่า เมื่อวันที่หุ้นเข้าเทรดวันแรก 13 พ.ย. ได้เข้าไปซื้อหุ้นจำนวน 58.13 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.84 บาท ใช้เงินลงทุนมากถึง 281 ล้านบาท
“ปรับชะรันซิงห์ ทักราล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BC ได้ซื้อหุ้นจำนวน 3.71 ล้านหุ้นราคาหุ้นละ 2.01 บาทในวันแรก และราคายังคงไหลลงแรงต่อเนื่องในวันที่ 15 พ.ย. ปิดที่ 1.88 บาท
ส่วนหุ้น SHR ในวันที่หุ้นตกแรง 15 พ.ย. “นริศ เชยกลิ่น” กรรมการ ได้เข้าไปซื้อ 1 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 4.18 บาท แต่ต้านแรงขายไม่ไหว ราคาลงไปปิดที่จุดต่ำสุดของวันที่ 3.84บาท หายไปอีก 7%
ขณะที่นักวิเคราะห์แนะนำว่า หุ้นใหม่ที่ปรับตัวลงแรง อาจจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนระยะยาว เช่น SHR ที่ขายหุ้นในราคาเท่ากับมูลค่าหุ้นทางบัญชี ถือว่าแฟร์ และแนวโน้มผลการดำเนินงานน่าจะดีขึ้น ตามการขยายการลงทุนโรงแรมระดับ High-end ทั้งในและต่างประเทศ
ที่สำคัญ นักลงทุนควรจะต้องทำการบ้าน พิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะยังมีหุ้นขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดี แต่ราคาลงมามากให้เลือกซื้อได้ ขณะเดียวกันเลิกสนใจหุ้นใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่ดี ไม่ควรสนับสนุนที่ปรึกษาทางการเงิน รวมถึงผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย(แกนนำอันเดอร์ไรท์เตอร์)ที่ดันทุรังเสนอลูกค้าที่ไม่มีความพร้อมหรือต้องการขายหุ้นราคาสูงๆ โดยไม่ห่วงชื่อเสียงที่สร้างสมมานาน ยอมให้นักลงทุนตีตราบาปว่าหลอกขายหุ้นแย่ๆ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพสินค้า เพิ่มความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยในระยะยาว