คอลัมน์ KTAM Focus : ขุมทรัพย์กับดักหนี้

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

หนี้สินที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ทั้งของ รัฐบาล ครัวเรือน และบริษัทเอกชน เริ่มก่อความกังวลแก่นักลงทุนในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรามองเรื่องนี้โดยโฟกัส “การตอบสนองของผู้กำหนดนโยบาย” เผยให้เห็น “ขุมทรัพย์” โอกาสลงทุนดีๆจากนี้ไปถึงปีหน้า!

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยผู้อำนวยการคนใหม่ Kristalina Georgieva ออกมาเตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า หนี้สินทั่วโลกรวมทั้งของรัฐและเอกชน พุ่งแตะระดับสูงสุดประวัติการณ์ $188 ล้านล้าน หรือ 230% ของ GDP โลก เพิ่มขึ้นมากจาก $164 ล้านล้านในปี 2016 กำลังเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโต เพิ่มความเสี่ยงที่รัฐบาล ครัวเรือน และบริษัทเอกชน จะมีปัญหาเมื่อดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น

Public Debt “หนี้สาธารณะ” พุ่งสูงขึ้นในเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว แตะระดับที่ไม่เคยถึงมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรัมป์จัดหนักจัดเต็ม ลดภาษีและออกแพคเกจกระตุ้นขนานใหญ่ช่วงปลายปี 2017 ทั้งๆที่เศรษฐกิจสหรัฐฯตอนนั้นยังดีอยู่ เพียงเพราะอยาก “ปั้น” ตลาดหุ้นให้พุ่งสู่ all-time-high “เวลาแห่งการชดใช้” จึงมาถึงแล้วในตอนนี้ อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ลอยค้างเหนือ 100% ยอดขาดดุลงบประมาณปี 2019 แดงฉาน $9.84 แสนล้าน ปีหน้าทะลุหลักกิโลล้านล้านเป็นแน่

Household Debt “หนี้ครัวเรือน” ในสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับตัวลงนับตั้งแต่ผ่านจุดสูงสุด 99.48% ของ GDP กลางปี 2009 จนมาเหลือแค่ 75.96% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ “ผู้บริโภค” จึงเปรียบเสมือนเครื่องยนต์อันทรงพลัง ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกตลอดช่วงทศวรรษล่าสุด แต่ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้า ข้อมูลระยะหลังบ่งชี้ว่า เครื่องยนต์นี้ออกอาการ “กระตุก” บ้างแล้ว เห็นได้จากยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถ “จ่ายช้าเกิน 90วัน” พุ่งขึ้นมา 3 ปีจนมีสัดส่วนสูงสุดตั้งแต่ปี 2011 ลูกหนี้บัตรเครดิตก็มีสภาพคล้ายๆกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ใหญ่กว่า และคงเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองไปจนถึงเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ปีหน้าเลยก็คือ Student Debt “หนี้เพื่อการศึกษา” $1.4 ล้านล้าน ซึ่งครองตำแหน่ง หนี้ครัวเรือนก้อนใหญ่อันดับ 2 เป็นรองแค่สินเชื่อบ้าน ประมาณว่านักศึกษาอเมริกัน 7 ใน 10 คนที่เรียนจบ มีหนี้สินแนบมากับใบปริญญาเฉลี่ยคนละ $37,000 หรือ > 1.1 ล้านบาท ดังนั้น นโยบาย “ยกหนี้การศึกษา” จึงเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียงหลักของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต

Corporate Debt “หนี้บริษัทเอกชน” กินสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของหนี้สินทั้งโลก กำลังก่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากมุมมองของ IMF ในรายงาน Global Financial Stability Report รอบครึ่งปีเผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. ระบุว่า 40% ของหนี้บริษัทในเศรษฐกิจหลักๆคิดเป็นมูลค่าราว $19 ล้านล้าน “เสี่ยงผิดนัดชำระ” หากเกิดภาวะถดถอย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงวิกฤตปี 2008-2009 เสียอีก! 2 ปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทในสหรัฐฯ ใช้เงินที่ได้จากมาตรการลดภาษีของทรัมป์ ไปกับการจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืนเพื่อ “ปั้นราคาหุ้น” มากกว่าที่จะนำไปลงทุน capex ซึ่งสนับสนุนการจ้างงานและการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

Debt Trap คน/บริษัท/ประเทศใด “ติดกับดักหนี้” แปลว่า หนี้ท่วม ภาระดอกเบี้ยสูงจนจ่ายคืนเงินต้นไม่ไหว ต้องกู้เงินใหม่มาโปะหนี้เก่าไปเรื่อยๆ …ดูเหมือน สหรัฐฯ กำลังเดินเข้าไป “ติดกับ” ตามหลัง ญี่ปุ่น ซึ่งติดอยู่ในกับดักหนี้มานานหลายสิบปีแล้ว

เศรษฐกิจโลกจะลงเหว? ไม่หรอก! เพราะวิธีแก้ปัญหาหนี้ “สไตล์อเมริกัน” หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมาคือ “เลี้ยงไข้” ไม่มีปัญญาจ่ายดอกเบี้ยก็ “ลดดอกเบี้ย” จนเหลือ 0% ถ้ายังไม่ต่ำพอก็กดให้ติดลบไปเลยแบบยุโรปและญี่ปุ่น จ่ายเงินต้นไม่ไหว? แก้ไม่ยาก! ธนาคารกลางก็ช่วยรัฐบาล “รีไฟแนนซ์” โดยพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นแล้วเอาไปซื้อพันธบัตร (Quantitative Easing: QE)

กลยุทธ์ชุดใหญ่ใช้แสวงหา “ขุมทรัพย์กับดักหนี้”

KT-EMEQ, KT-ASEAN, KT-INDIA, KT-CHINA รับแนวโน้มเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ Emerging Markets

หนี้ต่อ GDP ของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) เฉลี่ยยังต่ำแค่ 50% เศษๆ ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดพัฒนาแล้ว (เฉลี่ย > 100%) สหรัฐฯติดกับดักหนี้ เฟดจึงต้องกลับมาพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้จ่าย (เรียกสวยๆว่าเพิ่มขนาดงบดุล) และคงจะต้องลดดอกเบี้ยลงอีก วิธีดังกล่าวประกอบกับความแตกต่างของระดับหนี้สิน ส่งผลให้ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า สวนทางกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ ที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเงินทุนให้ไหลกลับเข้าสู่ Emerging Markets

KT-JAPAN, KT-ENERGY ภาวะดอกเบี้ยต่ำยาวนาน ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินทุน

บริษัทญี่ปุ่น สะสมเงินสดไว้มากและเริ่มนำไป จ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืน ควบรวมกิจการ กันมากขึ้น ขณะบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกในกลุ่มพลังงาน หันไปลงทุนโครงการพลังงานทดแทนมากขึ้น อาทิ พลังงานลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งจัดหาเงินทุนส่วนใหญ่ด้วยการกู้ยืม (ต่างจากโครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบเก่า ที่ใช้เงินทุนจากภายในกิจการเป็นหลัก) ช่วยปลดปล่อยสภาพคล่องส่วนเกิน ทำให้สามารถ จ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืน และ ควบรวมกิจการ เพิ่มขึ้นเช่นกัน

KT-PIF, KT-PROPERTY “โอกาสเข้าซื้อ” เปิดกว้างอีกครั้ง หลังการพักฐาน

REITs, Property Funds, Infrastructure Funds เพิ่งผ่านช่วงพักฐานในระยะสั้น จากการที่ยีลด์พันธบัตรพุ่งขึ้นบนความหวังเจรจาการค้า จีน-สหรัฐฯ ถึงแม้ดีลฯจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัจจัยระยะยาวรวมถึง “กับดักหนี้” ซึ่งมีแต่จะกดดอกเบี้ยไว้ให้ต่ำกว่าในอดีต และช่วยยกระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ให้ปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว

KT-GOLD, KT-PRECIOUS หนี้เพิ่ม + ดอกเบี้ยลด = ราคาทองขาขึ้น

ทองคำ และ หุ้นกลุ่มโลหะมีค่า ได้ปัจจัยสนับสนุนระยะยาวจากแนวโน้มหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ขณะดอกเบี้ยถูกกดไว้ให้ต่ำยาวนานและปรับขึ้นยาก จึงนับว่าเป็น “ขุมทรัพย์” อันดับต้นๆที่ควรมีไว้ เมื่อมหาอำนาจสหรัฐฯเข้าสู่วังวน “กับดักหนี้”

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน