EPG ชี้ค่าเงินผันผวนฉุดงบปีกำไร 993 ล้าน ปันผล 15 สต.

EPG เผยรายได้ปี 60/61 รายได้จากการขาย 9,607 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.5% กำไรสุทธิ 993 ล้านบาท ลดลง 28% เหตุได้รับผลกระทบจากค่าเงินผันผวน เตรียมชงผู้ถือหุ้น 25 ก.ค.นี้ ปันผล 0.15 บาทต่อหุ้น

รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG )ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 60/61 (เม.ย.60 – มี.ค.61) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 9,607 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 9,280 ล้านบาท จำนวน 327 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% และมีกำไรสุทธิ 993 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,383 ล้านบาท หรือปรับตัวลดลง 28% มีสาเหตุหลักมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งส่งผลกระทบกับรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น และกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศกว่า 70%

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายเติบโตขึ้น 7.3% และ 6.8% ตามลำดับ ส่วนรายได้ของธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกลดลง 6.2% จากการบริโภคภายในประเทศปรับตัวขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ประกอบกับการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และกำลังการผลิตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่ำกว่ากำลังการผลิตขนาดประหยัด (Economy of Scale) รวมถึงมีค่าใช้จ่ายจากธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตเป็นสาเหตุประกอบที่ทำให้กำไรสุทธิปรับลดตัวลง

ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 4 ปี 60/61 (ม.ค.61 – มี.ค.61) มีรายได้จากการขาย 2,424 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 60/61 (ต.ค.60 – ธ.ค.60) ที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 2,371 ล้านบาท จำนวน 52.4 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% และมีกำไรสุทธิ 232 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 60/61 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 183 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 26.8%

ทั้งนี้ ผลประกอบการประจำปี 60/61 เติบโตมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขายรวม 2,835 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก การเติบโตของ Aeroflex เป็นไปตามแผนงาน ทั้งแผน

การขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศ AEC และแผนการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเครื่องจักร High speed ในสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงต่อจากนี้ Aeroflex สหรัฐอเมริกา จะมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าใหม่ เช่น อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม และที่พักอาศัย เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา (Aero-roof) หลังจากที่ได้ทำการตลาดมาระยะหนึ่ง เป็นที่ยอมรับในตลาดค่อนข้างรวดเร็ว

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ยังคงเติบโตได้ดี มีรายได้จากการขายรวม 4,462 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์ใหม่จากสินค้าประเภทบันไดข้างรถ (Sidestep) ซึ่งผลิตให้กับค่ายรถรายใหม่โดยได้ทยอยส่งสินค้าแล้ว และรายได้จากธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย TJM ปัจจุบัน TJM มีร้านค้าของตนเอง (Corporate Store) 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่เมืองเพิร์ธ และเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย

นอกจากนี้ Aeroklas Australia Pty Ltd ประเทศออสเตรเลีย ได้เข้าซื้อกิจการของ Flexiglass Challenge Pty. Ltd. (Flexiglass) ซึ่งประกอบกิจการร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งรถกระบะ ประเภทขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ ในประเทศออสเตรเลีย โดยมี distributors และ dealers มากกว่า 100 แห่ง และมีสาขาของตนเองรวม 5 แห่ง การลงทุนดังกล่าวจะสามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ

ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขายรวม 2,310 ล้านบาท ลดลง 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุการลดลงของรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจ EPP เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก การบริโภคสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงส่งผลกระทบกับ EPP ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ โดยใช้หลักการ “Capacities Driven” และบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้ได้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น รวมถึงการออกสินค้าใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้า เป็นต้น

EPP เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกขึ้นรูปอันดับ 1 ของอาเซียน มีศักยภาพกำลังการผลิตมากกว่า 32,000 ตันต่อปี

รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 60/61 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท รวมเป็นเงิน420 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 60/61 ในวันที่ 25 ก.ค.61 กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date)ในวันที่ 7 ส.ค.61 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 23 ส.ค.61

“ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2560 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท แล้ว หากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.15 บาท ซึ่งจะมีการขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 60/61 จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.25 บาทต่อหุ้น หรือประมาณ 71.4% ของผลกำไรสุทธิ” รศ.ดร.เฉลียว กล่าว