โบรกฯ มองบวก BGRIM-GULF ลุย LNG เวียดนามเพิ่มกำลังผลิต-หนุนมูลค่าหุ้น

HoonSmart.com>> โบรกฯ มองกรณี GRIM-GULF ร่วมพันธมิตรเวียดนามศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ LNG เพิ่มกำลังผลิต 4-5 ปีข้างหน้า หนุนมูลค่าหุ้นเพิ่ม รอเคาะสัดส่วนถือหุ้นจบปรับราคาเป้าหมายใหม่ “บล.เอเซีย พลัส” ชี้หากถือหุ้น 50% หนุนราคา BGRIM เพิ่ม 10-15 บาท/หุ้น ส่วน GULF เพิ่ม 25-35 บาท/หุ้น

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส มองกรณีรฐบาลเวียดนามได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ในการพัฒนาโรงไฟฟ้า LNG to Power ขนาด 6,000 และ 3,000 MW ตามลำดับ พร้อมทั้ง LNG Terminal ซึ่งโครงการดังกล่าวฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมในประมาณการทั้ง 2 บริษัท ถือเป็น upside

สำหรับ GULF ราคาเหมาะสมปี 2563 อยู่ที่ 135.00 บาท ฝ่ายวิจัยประเมินในเบื้องต้นจากข้อมูลที่มีซึ่งยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนทั้งอัตราค่าไฟ, สัดส่วนการถือหุ้น และอื่นๆ แต่หาก GULF ถือหุ้น 50% จะคิดเป็นมูลค่าพื้นฐาน 25-35 บาท/หุ้น (โรงละ 6-9 บาท/หุ้น) และหากถือ 100% จะคิดเป็นมูลค่าพื้นฐาน 48-72 บาท/หุ้น (โรงละ 12-18 บาท/หุ้น)

ส่วน BGRIM ราคาเหมาะสมปี 2563 อยู่ที่ 51.00 ซึ่งจะเป็นการถือหุ้นร่วมกับ Petrovietnam ในการศึกษาโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 3 พัน MW รวมถึงธุรกิจนำเข้าและจำหน่าย LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในเวียดนาม แต่ยังไม่มีรายละเอียดเช่นกัน เนื่องจาก BGRIM อยู่ระหว่างการศึกษา ก่อนจะนำเสนอเข้าบอร์ดที่ประชุมบริษัทในช่วงต้นปี 2563 โดยคาดจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในไตรมาส 1/2563

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินในเบื้องต้นภายใต้สมมติฐานเดียวกัน หาก BGRIM ถือหุ้น 50% และที่เหลืออีก 50% ถือโดย Petrovietnam จะคิดเป็นมูลค่าพื้นฐาน 10-15 บาท/หุ้น

อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยจะนำเสนอรายละเอียดประมาณการกำไรและมูลค่าพื้นฐานเพิ่มเติมอีกครั้ง เมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มเติมที่ชัดเจนแล้วจากทั้ง 2 บริษัท

บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองเป็นปัจจัยบวกกับ BGRIM และ GULF เซ็น MOU หากสรุปได้จริงจะเป็นบวกและช่วยเพิ่มกำลังผลิตของทั้ง 2 บริษัทใน 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งฝ่ายวิจัยยังไม่รวมโครงการดังกล่าวใน Valuation สำหรับ BGRIM จากเดิมราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 50 บาท แนะนำ ถือ,ซื้ออ่อนตัว

อ่านข่าว

GULF เซ็นพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 6,000 MW สถานีรับ-จ่าย LNG ในเวียดนาม

BGRIM-Petrovietnam Power ร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้า 3,000 MW