โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
VN Index หุ้นเวียดนามพุ่งทะลุ 1,000 จุด เมื่อวันศุกร์ทะยานขึ้น +1.68%ปิดที่ 1,015.59 สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ปัจจุบัน KTAM มีกองทุนที่ลงทุนบางส่วนในเวียดนาม อาทิ KT-CLMVT, KT-ASEAN และ KT-AASIA
ตลาดหุ้นดาวรุ่งอาเซียน วิ่งผ่านแนวต้านจิตวิทยามาได้ ในวันแรกของเดือนก่อนส่งท้าย 2019 ปีที่เราย้ำๆๆตลอดว่าต้องเข้าๆๆซื้อหุ้นโดยเน้น Emerging Markets เพื่อรับประโยชน์จาก “แนวโน้มใหญ่” การกลับมา “อ่อนค่ายาวๆ” ของเงินดอลลาร์
ข่าวการซื้อหุ้นคืน เข้ามาจุดระเบิดติดเทอร์โบหุ้นเวียดนามให้พุ่งแรงกว่าเพื่อน Vinhomes พุ่งติดเพดาน +7% Vincom Retail +5.6% หลังบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน 60 และ 56.5 ล้านหุ้น ตามลำดับ ส่งผลให้หุ้นแม่ของทั้งสองคือ Vingroup บริษัทยักษ์ด้านอสังหาฯ market cap ใหญ่ 12% ของดัชนีฯ +2.9% บวกแรงสุดในรอบกว่า 2 เดือน
Buyback หรือ Share Repurchase “ซื้อหุ้นคืน” คือ ธุรกรรมที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นของตัวเองในตลาด เป็นการจ่ายคืนผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในรูปแบบหนึ่ง การซื้อหุ้นคืนทำให้เงินสด (ส่วนเกิน) ลดลงคล้ายการจ่ายปันผล หากมองที่งบดุลของบริษัทจะเห็นว่า สินทรัพย์ลดลงทำให้ Return on Asset (ROA) สูงขึ้น หุ้นที่ถูกซื้อคืนมาจะกลายเป็น treasury stock ไปหักลบออกจาก “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ที่มีอยู่เดิมทำให้ Return on Equity (ROE) สูงขึ้น นอกจากนี้ จำนวนหุ้นหรือ “ตัวหาร” เหลือน้อยลงเมื่อคำนวณ “กำไรต่อหุ้น” (EPS) และ “ปันผลต่อหุ้น” (DPS) ก็จะเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปซื้อขาย ณ ราคาสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อบริษัทใดประกาศ “ข่าวดี” ว่าจะ “ซื้อหุ้นคืน” เราจึงมักเห็นหุ้นของบริษัทนั้นๆพุ่งขึ้นอย่างคึกคัก
“ยุคทองของลูกหนี้” จริงอยู่…ข้อพึงระวังของ buyback คือ การซื้อหุ้นคืนทำให้ “ระดับหนี้สิน” Debt to Equity (D/E) สูงขึ้น ทว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค “ดอกเบี้ยต่ำยาวนาน” เพราะ สภาพคล่องส่วนเกิน จากความต้องการออมเพื่อรับมือสังคมสูงอายุ ขณะ นโยบายประชานิยม ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงจนดอกเบี้ยขึ้นไม่ไหวแล้ว …ผมได้ชี้โอกาสลงทุน ณ สภาวะปัจจุบันถึงอนาคตระยะยาวซึ่งเป็น “ยุคทองของลูกหนี้” ไว้ในคอลัมน์ KTAM Focus วันที่ 15 ก.ย. อาศัยความได้เปรียบของ “ลูกหนี้” ในภาวะดอกเบี้ยต่ำยาวนาน บริษัทสามารถยอมให้ D/E สูงขึ้นกว่าอดีตได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงแก่กิจการเท่าไรนัก ดังนั้น บริษัทที่มี “หนี้น้อย” หรือ “เงินสดส่วนเกินเยอะ” จึงสามารถกู้เพิ่มหรือนำเงินสดส่วนเกินไปใช้ จ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืน ควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทและคืนผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น …กิจกรรมเหล่านี้กำลังเพิ่มขึ้น! ที่ไหนบ้าง?
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีบริษัทที่สะสมเงินสด “เยอะไป” อยู่เป็นจำนวนมาก ดัชนีเพิ่งเริ่มปรับตัวขึ้นโดดเด่นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หุ้นญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยจึงยังมีราคาถูก KT-JAPAN ยังคงเป็นกองทุนหุ้นตลาดพัฒนาแล้วซึ่งเราชอบมากที่สุด
บริษัทยักษ์ด้านพลังงาน หันไปโฟกัสการลงทุนในโครงการ “พลังงานทดแทน” (renewable) เช่น ลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าโปรเจคแบบเก่ามาก เพราะมีผู้ซื้อแน่นอน การันตีรายได้ด้วยข้อตกลงซื้อขายพลังงาน จึงสามารถจัดหาเงินจากการกู้ยืมเป็นหลักในรูป Project Finance นำกระแสเงินสดจากโครงการมาจ่ายคืน “เจ้าหนี้” อาทิ กองทุนบำนาญ บริษัทประกัน ซึ่งต้องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานความเสี่ยงต่ำ แถมเป็นแหล่งพลังงานที่กำลังมาแรง ภายใต้ค่านิยมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสามารถให้ “ยีลด์” ที่น่าพอใจในยุคดอกเบี้ยต่ำยาวนาน
ดังนั้น “โครงสร้างเงินทุน” ของบรรดายักษ์พลังงานกำลังเปลี่ยนไป! จากเดิมตุนเงินสดไว้เยอะและมีหนี้ต่ำมากแค่ 15% แต่แนวโน้มอนาคตน่าจะจัดหาเงินจากการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็น 85% ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มี “สภาพคล่องส่วนเกิน” จำนวนมหาศาลที่จะจ่ายคืนผู้ถือหุ้น โดยสำนักวิจัย Rystad Energy คาดว่า สภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวสามารถนำไป จ่ายปันผล และ ซื้อหุ้นคืน ได้ยาวนานถึง 20 ปี! กองทุนที่รับโอกาสจากเรื่องนี้อาทิ KT-ENERGY ซึ่งกองทุนหลักเน้นลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานในต่างประเทศ
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน