โบรกฯ ชี้ประมูล 5G ราคาเริ่มต้นต่ำเป็นบวกกลุ่มสื่อสาร ชู ADVANC เด่น

HoonSmart.com>> โบรกฯ ชี้ประมูล 5G เปิดราคาต่ำ ใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท เป็นบวกกลุ่มสื่อสาร “บล.เอเซียพลัส-ฟินันเซีย ไซรัส” ชู ADVANC เด่นสุดในกลุ่ม ราคาเป้าหมาย 260 บาท กสทช.เคาะวันประมูล 16 ก.พ.63

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์ กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศผลศึกษาราคาคลื่น 2600 mhz และ 26 ghz ราคาเริ่มต้นค่อนข้างถูก เป็นบวกต่อกลุ่มสื่อสาร เพราะส่งผลให้ downside จากต้นทุนดังกล่าวจำกัดราวรายละ 1 พันล้านบาทต่อปี แต่ยังชอบเฉพาะ ADVANC, INTUCH โดยประเมิน ในปี 2563 ADVANC เติบโตต่อเนื่อง เพราะมีต้นทุนค่าเช่าอุปกรณ์ TOT ลดลงมาช่วย เต็มปี

ส่วน DTAC, TRUE ยังคงมุมมองความเสี่ยงไม่เติบโต จากฐานกำไรเล็ก และไม่มีต้นทุนอื่นลดลงมาช่วยเหมือน ADVANC

สำหรับราคาประมูลคลื่น 2600 mhz จำนวน 190 mhz 19 ใบอนุญาต ใบละ 10 mhz เริ่มใบละ 1.86 พันล้านบาท ส่วน 26 ghz จำนวน 2700 mhz 27 ใบอนุญาต ใบละ 100 mhz. เริ่มใบละ 300 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามราคาที่ออกมาลงมาถูกใกล้เคียงต่างประเทศ มากขึ้น ผิดจากปกติที่มักแพงกว่า ประกอบกับ คลื่นมีจำนวนมาก คาดว่าทุกรายจะประมูล 2600 mhz และ 26 ghz เก็บไว้ และราคาประมูลน่าจะใกล้เคียงราคาตั้งต้น ขณะที่ไม่น่าจะสนใจคลื่น 700 และ 1800 mhz ที่เหลือ และ กสทช จะนำมาประมูลด้วยภายใต้ราคาล่าสุดที่แพง

บล.เอเซียพลัส ประเมินผบกระทบเบื้องต้นกำหนดให้ทั้ง 3 ค่ายมือถือแบ่งคลื่น 2600 mhz และ 26 ghz เท่าๆกัน ที่ 6 และ 9 ใบตามลำดับ คาดว่าจะมีต้นทุนคลื่นต่อรายราว 1.38 หมื่นล้านบาท อิงสมมติฐานอายุคลื่น 15 ปี คาดต้นทุนเพิ่ม ไม่เกินรายละ 1 พันล้านบาทต่อปี (ทั้งกลุ่มไม่เกิน 3 พันล้านบาท ราว 5% ของกำไร ADVANC, DTAC, TRUE, INTUCH) ส่วนต้นทุนโครงข่ายคาดตามมาจำกัด โดยทุกรายน่าจะลงทุนพื้นที่ EEC ตามเงื่อนไขไปก่อน ส่วนการลงในวงกว้างคาดจะรอปริมาณธุรกิจ 5G ให้มากพอก่อน

“โดยรวมคาดกระทบ downside ต้นทุนคลื่นใหม่จำกัดกว่าฝ่ายวิจัยกังวล แต่ตัวเลือกลงทุนยังเน้น ADVANC, INTUCH ที่คาดเติบโตได้ในปี 2563 แม้รวมต้นทุนใหม่ ส่วน dtac, true ยังให้ switch จากความเสี่ยงไม่เติบโต หากรวมต้นทุนคลื่นใหม่”บล.เอเซีย พลัส ระบุ

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส มองราคาประมูลเริ่มต้นโดยรวมไม่สูง ซึ่งสอดคล้องกับที่ได้ประเมินไว้ เพราะจาก Supply คลื่นที่มากขึ้นขณะที่ Demand ของผู้ให้บริการที่ยังไม่จำเป็นต้องเร่งลงทุนโครงข่าย 5G อย่างเร่งด่วน และหากลงทุน 5G จะได้สิทธืประโยชน์ในช่วงปีที่ 2-4 ไม่ต้องชำระค่าคลื่นซึ่งสามารถนำเงินไปลงทุนแทนได้ ทำให้แรงกดดันด้านต้นทุนค่อนข้างต่ำ

“โดยรวมเรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่ม Mobile Operator โดยให้น้ำหนักการลงทุน Overweight และเลือก Top Pick เป็น ADVANC ราคาเหมาะสม 260 บาท” บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุ

ทั้งนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวในงานสัมมนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN ว่า ขณะนี้ผลการศึกษาราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 2600 MHz ออกมาแล้ว อยู่ที่ใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท จำนวน 19 ใบอนุญาตๆละ 10MHz ขณะที่คลื่น 26 GHz อยู่ที่ใบอนุญาตละ 300 ล้านบาท จำนวน 27 ใบอนุญาตๆละ 100 MHz

เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 เพื่อให้ออกใบอนุญาตได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ 2563 และให้เอกชนลงทุนภายในต้นเดือนมี.ค.2563 และเปิดให้บริการในเดือน ก.ค. 2563 โดยภายในวันที่ 6 พ.ย.2562 จะเสนอคณะอนุกรรมการโทรคมนาคม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมกสทช. วันที่ 12 พ.ย. และเปิดประชาพิจารณ์ วันที่ 13 พ.ย.-12 ธ.ค. 2562 เพื่อให้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 27 ธ.ค 2562 และเชิญชวนผู้สนใจประมูล วันที่ 2 ม.ค. 2563

สำหรับเงื่อนไขหลังได้รับใบอนุญาต 5G ผู้ชนะการประมูล ต้องชำระค่าใบอนุญาตปีแรก จำนวน 10% จากนั้นไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาต ในปีที่ 2-4 เพื่อให้เอกชนมีเวลาในการทำธุรกิจ และให้จ่ายใบอนุญาต ปีที่ 5-10 ปีละ 15 % นอกจากนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องนำคลื่นที่ได้ไปใช้งาน 5G เท่านั้น และต้องลงทุนในอีอีซี 50% ปีแรก และลงทุนในสมาร์ท ซิตี้ 50% ภายใน 4 ปี