HoonSmart.com>>บล.เคจีไอวิเคราะห์กลุ่มแบงก์ ราคาไม่แพง จับสัญญาณรายได้ฟื้นตัว NIM เพิ่มขึ้น คุณภาพสินทรัพย์ยังไม่ดีขึ้น บล.เอเซียพลัสคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มน้อยกว่าตลาด ยกเว้น BBL ให้เป้า 217 บาท ส่วนกำไรบจ.คาดทั้งปี 2562 อยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท ไตรมาส 3 และ 4 ไตรมาสละ 2.59 แสนล้านบาท
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังจากกำไรไตรมาส 3/2562 ดีกว่าประมาณการ 5% เริ่มมีสัญญาณรายได้ฟื้นตัว NIM ดีขึ้น แต่คุณภาพสินทรัพย์ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่คิดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และน่าจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 ในขณะที่ราคาหุ้นก็ไม่แพง จึงยังคงคำแนะนำและราคาเป้าหมายไว้เท่าเดิม อย่างไรก็ตาม มูลค่าของ SCB ในระยะยาวจะถูกกระทบจากการที่ PACE ผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้หากไม่รวมกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และสำรองหนี้เสียก้อนโตของ SCB ผลงานจะลดลงแค่ 3% จากไตรมาส 2 แต่เพิ่มขึ้น 2% จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งดีกว่าประมาณการของเคจีไอ/consensus ประมาณ 5% ส่วนTMB ดีกว่าประมาณการของเรา 23%, TCAP ดีกว่า 18%, KKP ดีกว่า 17%, BBL ดีกว่า 9%, และ TISCO ดีกว่า 5%
ขณะที่กำไรสุทธิงวด 9 เดือน ลดลงเล็กน้อย 1% คิดเป็น 75% ของประมาณการปีนี้ของเรา ถึงแม้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ในไตรมาส 3 ต้นทุนทางการเงิน ก็ปรับขึ้นเล็กน้อย เพราะการออกหุ้นกู้ระยะยาว/sub-debt เพิ่มขึ้น แต่ธนาคารส่วนใหญ่ยังสามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทน (yield) สินเชื่อได้ (ชดเชย yield ที่ลดลงจากตลาดเงิน และการลงทุน) ทั้งนี้ yield โดยรวมของสินทรัพย์ของ BBL เพิ่มขึ้นประมาณ 0.06%, ของ SCB เพิ่มขึ้น 0.07%, ของ TCAP & TISCO ทรงตัว มีเพียง KTB เท่านั้นที่ yield ของสินทรัพย์ และ NIM ลดลง เนื่องจากธนาคารมีการขยายสินเชื่อภาครัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่ yield ในตลาดเงินลดลงอย่างมากถึงประมาณ 0.60%
แนวโน้มหลักจากผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2562 NIM ของธนาคารส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการปรับลด MOR และ MRR ลง 0.25% โดยเฉพาะ BBL และ SCB โดยมีสัญญาณการฟื้นตัวของสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมของ BBL SCB TMB KTB TISCO เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง สำหรับ credit cost ทรงตัวเนื่องจากกระแส NPL เกิดใหม่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ TMB KTB TCAP KBANK จัดชั้นการลงทุนระยะยาวใหม่ และรับรู้กำไรผ่านงบ P/L (TMB ประมาณ1.8 พันล้านบาท และKTB ประมาณ 700-800 ล้านบาท)
รายได้ค่าธรรมเนียมและการให้บริการดีขึ้นจากทั้งค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ, รายได้จากการปริวรรตเงินตรา, และค่าธรรมเนียม AM นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมธุรกรรมก็ทรงตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง ซึ่งเมื่อแยกรายธนาคาร SCB จะมีการเติบโตสูงที่สุดที่ +3% จากไตรมาส 2 และ +13% จากระยะเดียวกันปีก่อน , KTB ที่ +5% , BBL ที่ +4% และ +9% , TISCO ที่ +9% และ +3%
ส่วนเรื่องหนี้เสีย หลังจากที่ดูตัวเลขหนี้เสียทั้งหมดในทุกธนาคารมองว่าแต่ละธนาคารทำได้แค่การประคับประคอง โดยหนี้เสียที่เข้ามายังอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับไตรมาสที่แล้ว และเริ่มกดดันการค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯ เพิ่ม แต่ธนาคารก็มีศักยภาพในการหารายได้ส่วนเกินเข้ามาชดเชยกับแรงกดดันเรื่องค่าใช้จ่ายบริหารหนี้เสีย ทั้งนี้ภายใต้คุณภาพสินทรัพย์รายธนาคารเราค่อนข้างกังวลกับหนี้เสียของ SCB ที่มีเข้ามาก และส่งกระทบให้การตั้งสำรองเพิ่มจำนวนมาก ซึ่งหนี้เสียที่เข้ามาครั้งนี้ได้ทำให้สำรองส่วนที่ธนาคารมีอยู่ต้องลดลง
บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า กำไรของทั้ง 10 ธนาคาร ที่ฝ่ายวิจัยฯ ทำการศึกษา เท่ากับ 5.59 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.8% จากไตรมาส 2 และเติบโต 1.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน ได้แรงหนุนจากรายการพิเศษเป็นหลัก เช่น SCB มีกำไรสุทธิสูงสุดในกลุ่มฯอยู่ที่ 1.48 หมื่นล้านบาท และ TCAP มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,470 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมสินเชื่อสุทธิ ณ 30 ก.ย. 2562 ของกลุ่มธนาคารฯ เติบโต 1% จากไตรมาส 2 หากเทียบสิ้นปีก่อนบวกราว 4% แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีหลายปัจจัยเสี่ยง ทำให้มูลหนี้ NPL เร่งตัวราว 4% จากสิ้นงวดก่อน ส่งผลให้สัดส่วน NPL ณ 30 ก.ย. 62 เทียบสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 3.26% เทียบกับ 3.20% สิ้นงวดไตรมาส 2 รวม Coverage ratio สิ้นไตรมาส 3ลงมาที่ 149% จาก 153% ณ สิ้นงวดก่อน
ภาวะการเร่งตัวของ NPL ตามสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับยังมีความเสี่ยงจากการที่ กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของการประชุมในปีนี้ โดยทุกๆ ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง 0.25% จะกระทบต่อกำไรกลุ่มฯ ราว 3.8% จึงให้ยังคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มฯ น้อยกว่าตลาดฯ สำหรับตัวเลือกการลงทุนแนะนำ BBL มูลค่าเหมาะสม 217 บาท คาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยงวดไตรมาส 4 เข้าสู่ฤดูกาลสินเชื่อธุรกิจ ราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาปรับฐานไปพอสมควร พร้อมคาดหวังอัตราผลตอบแทนปันผลสูง 5% ต่อปี
ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินเบื้องต้นยังคงคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งปี 2562 อยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงวดไตรมาส 3 และ 4 ไตรมาสละ 2.59 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามผลกระทบของปัญหาสงครามการค้า ทำให้ความต้องการบริโภคในสินค้าโภคภัณฑ์และราคาปิโตรเลียม ลดลง ต่ำกว่าสมมติฐานปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 60 เหรียญ/บาร์เรล อีกทั้งโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทบต่อกำไรกลุ่มธนาคาร โดยรวมยังเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการกำไร
ส่วนการรายงานงบฯ ของกลุ่ม Real sector คาด DELTA, HMPRO, SCC ประกาศในวันที่ 28 ต.ค. ตามด้วย PTTEP THCOM (30 ต.ค.) และ ADVANC (31 ต.ค.)