มอร์นิ่งสตาร์ฯ คาดโค้งสุดท้ายปี 62 เงินไหลเข้า LTF ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล.

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” ประเมินเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน LTF ไตรมาส 4/62 ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท เชื่อคนยังใช้สิทธิภาษีลงทุนปีสุดท้ายต่อเนื่อง ด้านผลตอบแทนปีนี้เฉลี่ย 5.62% ย้อนหลัง 10 ปีเฉลี่ยต่อปี 9.05% ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุน 9 เดือนเงินไหลเข้า 8.3 หมื่นล้าน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอ สภาวะลงทุนผันผวน

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 62 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ประเมินว่าจะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่มีเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติเงินจะเข้าซื้อในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี โดยเฉพาะในเดือนสุดท้าย


“ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ากองทุน LTF กว่า 2.6 พันล้านบาท รวม 9 เดือนเงินยังไหลออกสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นทิศทางเงินไหลเข้าช้ากว่าปีก่อนหน้าที่มีเงินไหลเข้าสุทธิตั้งแต่ไตรมาส 2 ทำให้ 9 เดือนปี 2561 มีเงินไหลออกสุทธิเพียง 1.7 พันล้านบาท ซึ่งอาจเกิดจากกระแสเงินไหลออกสุทธิในเดือนมิ.ย.และก.ค.ของปีนี้รวมมากกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบในอดีต”น.ส.ชญานี กล่าว

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อกองทุน LTF หมดไป คาดว่าเม็ดเงินลงทุนใหม่จะหายไปจากตลาดหุ้นอย่างน้อยปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยสมมติฐานว่ากองทุนรูปแบบใหม่ SEF มีสิทธิลดหย่อนได้ 2.5 แสนบาท ลดลง 50% จาก LTF ปัจจุบันลดหย่อนได้ 5 แสนบาท อีกทั้งค่าเฉลี่ยของเม็ดเงินไหลเข้าจาก LTF เฉลี่ยอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่หากไม่มีกองทุนใดมาทดแทน เงินก็จะหายไปจากเงินที่เคยซื้อ LTF อย่างไรก็ตามยังมีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ลงทุนในหุ้นยังคงใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

ส่วนความกังวลนักลงทุนจะขายกองทุน LTF ในต้นปี 2563 ไม่น่าจะมีนัย คาดว่าจะขายใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนอาจยังถือลงทุนต่อ อีกทั้งเม็ดเงินกองทุน LTF คิดเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้น

ทั้งนี้ ในปี 2562 นักลงทุนที่ถือกองทุน LTF 5 ปีปฏิทินสามารถขายออกมาได้จะต้องซื้อกองทุนในปี 2559 ส่วนนักลงทุนที่ซื้อกองทุนปี 2560 จะต้องถือลงทุน 7 ปีจึงจะขายกองทุนออกมาได้ ซึ่งจะขายได้ในปี 2566 ดังนั้นในปี 2564-2565 นักลงทุนที่ขายคืนได้เป็นกลุ่มที่อยู่ในเงื่อนไขถือ 5 ปี ซึ่งไม่รวมถึงคนที่ถือลงทุนเกินเงื่อนไขแต่ยังไม่ได้ขายออก

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน LTF ในรอบ 3 เดือนถึง 1 ปีจะพบว่ากองทุน LTF และ RMF – Equity ซึ่งเป็นกองทุนตราสารทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดที่แกว่งตัว ในขณะกองทุน RMF – Other ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดของกองทุนประหยัดภาษี โดยเป็นผลตอบแทนจากกองทุนรวมทองคำที่ในปีนี้ปรับขึ้นตามทิศทางราคาทองคำ แต่หากมองในระยะยาวตั้งแต่ 3-10 ปีนั้นจะเป็นภาพกลับกันโดยกองทุนทองคำให้ผลตอบแทนต่ำ ในขณะที่กองทุนหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น

ทางด้านกองทุน RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาส 3 ประมาณ 4.1 พันล้านบาท รวม 9 เดือนเงินไหลเข้าสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้าสุทธิจากกองทุน RMF – Fixed Income 9.2 พันล้านบาท

ปัจจุบันกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์ ณ สิ้นเดือนก.ย.2562 รวม 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากสิ้นปีก่อน กองทุนกลุ่ม RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% จากปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่ม RMF – Equity มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9%, RMF – Fixed Income 8.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2%, RMF – Allocation 5.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9%

สำหรับภาพอุตสาหกรรมกองทุนรวม 9 เดือนปี 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากสิ้นปีก่อน โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 8.3 หมื่นล้านบาท กองทุนรวมตราสารหนี้เงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 3.7 หมื่นล้านบาท กองทุนรวมตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.9 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ทองคำ หรือน้ำมันมีเงินไหลและกองทุนรวมตลาดเงินมีเงินไหลออกสุทธิที่ 1.7 พันล้านบาทและ 189 ล้านบาท ตามลำดับ

ในแง่ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ กลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของกองทุนรวมตราสารทุน คือ กลุ่ม Property – Indirect Global มูลค่าทรัพย์สิน 1.1 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 66.3% จากเดือนก.ย.2561 และในช่วง 9 เดือนทำผลตอบแทน 19.41% ขณะที่กลุ่ม Property Indirect คว้าแชมป์ผลตอบแทนสูงสุด 27.97% ขณะที่กลุ่ม Global Allocation มูลค่าทรัพย์สินลดลงสูงสุด 31.7% ทั้งที่ตามหลักการแล้วการกระจายการลงทุนน่าจะเป็นเหมาะสมกับทุกสภาวะ ช่วยกระจายความเสี่ยง

 
 
อ่านประกอบ

ส่องกองทุน 9 เดือนปี 62 กลุ่มไหนผลตอบแทนดีสุด??