แบงก์ชาติ ขู่งัด 3 มาตรการคุมบาทแข็ง 

HoonSmart.com>>”แบงก์ชาติ” เตรียมงัด 3 มาตรการคุมเงินบาทแข็ง หลังพบเงินบาทแข็งช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา  หลังเงินต่างชาติ ไหลเข้าซื้อหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ และซื้อขายทองคำ พบต้นปีไทยส่งออกทองคำสูงถึง  4-5 พันล้านดอลลาร์ หนุนเงินไหลเข้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ ) กล่าวว่า ช่วง 1-2 เดือนนี้ แบงก์ชาติจะออก 3 มาตรการดูแลค่าเงิบาท ไม่ให้แข็งค่ามากกินไป จากเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง  ประกอบด้วย

มาตรการแรก ต้องการเปิดเสรีเพื่อนำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยมี 3 มาตรการย่อย คือ 1. การผ่อนเกณฑ์ให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 2. สามารถพักเงินต่างประเทศของผู้ส่งออกเพิ่มมากขึ้น และ3. เพิ่มผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อทำให้เกิดการแข่งขัน

มาตรการที่สอง คือ ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อทำให้เกิดความสมดุลของการไหลเข้า และ ไหลออกของเงินทุน

มาตรการสุดท้าย คือ การลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานดิจิตัล ซึ่งต้องการให้นำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยใช้โอกาสที่เงินบาทเอื้อให้เกิดการนำเข้าเพื่อสร้างรากฐานให้กับเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล

ผู้ว่า แบงก์ชาติ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท คือ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก การเมือง สงครามการค้า และ Brexit  ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด   8 เดือนแรก ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ภายในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 6.3% ของจีดีพี ทำให้เงินทุนไหลเข้ามามากกว่าเงินที่ใช้จ่ายในประเทศ ตลอดจนการส่งออกที่ยังหดตัวแรง ซึ่งภายใต้เกินดุลมีการส่งออกทองคำในมูลค่าที่สูง และในเวลาที่เกิดความไม่แน่นอนของโลก มีนักลงทุนที่ลงทุนในทองคำ และเทขายออกมาเมื่อราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการส่งออกทองคำสุทธิ 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา

ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวอีกว่า การลงทุน 2 กลุ่ม โดยเฉพาะตราสารที่ลงทุนในหุ้น หรือ ในพันธบัตร และการลงทุนโดยตร ง(FDI) ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวล หลังมีเงินทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาส 2/62 สะท้อนจากการจัดตั้งรัฐบาล และ การปรับน้ำหนักการลงทุนของไทย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือ พันธบัตรระยะยาว คือ สิ่งที่ธปท. และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีความกังวลจึงออกมาตรการในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งไม่ให้กระแสเงินไหลเข้ามาพักเงินในไทยได้ง่าย และ ในช่วงส.ค.-ต.ค. มีการกลับทิศของพอร์ตลงทุนต่างประเทศ ซึ่งพบว่า มีการไหลออกไปสุทธิ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ 1-2 เดือนนี้จะเห็นมาตรการดังกล่าว เพราะบางอย่างอยู่นอกเหนืออำนาจ และ กฎหมายที่เรามี ต้องได้รับการเห็นชอบจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าจะควบคุม เพียงแต่จะดูว่า จะมีช่องทางไหน หรือ ทำอย่างไรให้ Flow ทองคำไม่มีผลกระแทกแรงๆ จนมีผลกระทบต่อค่าเงินบาท ไม่ได้บอกว่าให้หยุด หรือ เลิกการค้าขายทองคำ” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

นายวิรไท ยอมรับว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ และ การขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นในไทย โดยเฉพาะในไตรมาส 3/62 มีนักลงทุนเข้ามาซื้อกิจการในมูลค่าที่สูง ไม่รวมกับบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทุกอย่างเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่า