EA มั่นใจโรงงานผลิตแบตฯ-รถยนต์ไฟฟ้า จะสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ “สมโภชน์” ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ ระบุ โรงผลิตแบตฯแข่งผู้ผลิตรายอื่นได้ พร้อมขายไฟฟ้าพลังลมอีก 260 เมกะวัตต์ ส่งรายได้เข้าไตรมาส 4 ปีนี้ ลุยแผนสร้างโรงผลิตไบโอดีเซลแห่งใหม่ มั่นใจปี 62 รายได้ทะลุ 1.5 หมื่นล้าน
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า โครงการไฟฟ้าพลังงานลม “หนุมาน” กำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในปี 2562 โครงการหนุมานจะสร้างรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ และไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 404 เมกะวัตต์ ประมาณ 7,000 ล้านบาท
“หลังจากโครงการไฟฟ้าพลังงานลมหนุมานขายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะทำให้ EA มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์มและวินฟาร์ม รวมกัน 664 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ปีละ 9,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีแผนเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์และไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยมีนักลงทุนหลายรายเข้ามาเจรจากับ EA เพื่อขอให้ไปร่วมลงทุน แต่เนื่องจากโครงการเหล่านี้ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) บริษัทจึงยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ และปีนี้ยังไกลที่บริษัทจะลงทุนในต่างประเทศ”นายอมรกล่าว
นายอมร กล่าวว่า ในช่วงต้นปีหน้าบริษัทจะลงทุนโรงงานผลิตไบโอดีเซลแห่งที่ 2 ที่ระยอง มูลค่า 2,000 ล้านบาท กำลังการผลิตไบโอดีเซล (บี100) วันละ 8 แสนลิตร และมีกำลังผลิตกรีนดีเซล รวมทั้ง PCM (สารผสมวัสดุก่อสร้างเพื่อป้องกันและเก็บความร้อน) วันละ 1.3 แสนลิตร คาดว่าโรงงานแห่งใหม่จะแล้วเสร็จและเดินเครื่องได้ไตรมาส 3 ปีหน้า ส่วนโรงงานผลิตไบโอดีเซลแห่งแรกที่ปราจีนบุรี กำลังการผลิต 8 แสนตัน จะทยอยยกเลิกการผลิต เนื่องจากมีประสิทธิภาพต่ำกว่าและใช้งานมากว่า 7-8 ปีแล้ว โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ทดสอบไบโอดีเซลและผลิตภัณฑ์พลอยได้
ปัจจุบัน EA มีรายได้จากการขายโบโอดีเซลบี100 ประมาณ 4,400 ล้านบาท และหากโรงงานไบโอดีเซลแห่งใหม่เดินเครื่องผลิตเต็มกำลัง ในขณะที่โรงงานแห่งแรกทยอยยกเลิกการผลิตลง คาดว่ารายได้จากการขายไบโอดีเซลและผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้ในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 5-6,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2561-62 บริษัทมีความต้องการใช้เงินลงทุน 2.47 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนโรงไฟฟ้าหนุมาน 1.8 หมื่นล้านบาท โรงงานไบโอดีเซลแห่งที่สอง 2,000 ล้านบาท สถานีอัดประจุรถไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ 600-700 ล้านบาท และสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟสแรก 1 GWh ต่อปี 4,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเริ่มต้นก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรปีหน้า ส่วนแหล่งเงินลงทุนจะมาจากหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ออกได้ 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะมาจากสภาพคล่องของบริษัท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน
“การเติบโตของบริษัทในช่วง 5 ปีจากนี้ จะขึ้นอยู่กับโครงการผลิตแบตเตอรี่ที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 50 GWh ต่อปี และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ด้วยมูลค่าการลงทุนที่สูงเกินกว่า 1 แสนล้าน ทาง EA จำเป็นต้องหาพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม รวมทั้งประเทศอื่นๆในแถบนี้ หากทุกอย่างประสบความสำเร็จตามแผนและผมก็มั่นใจว่าจะสำเร็จ เพราะเทรนด์มันมาทางนี้ เราจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตของบริษัทที่จะรองรับพี/อีที่สูงในระดับ 30-40 เท่าเอาไว้ได้”นายอมรกล่าว
นายอมร ยังมั่นใจว่า การก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่จะเป็นไปตามแผน โดยขณะนี้พ.ร.บ.อีอีซีประกาศใช้แล้ว และอีกไม่นานจะมีการประกาศใช้ผังเมืองรวมในพื้นที่อีอีซีฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้นิคมอุตสาหกรรม “บลูเทค ซิตี้” พื้นที่ 3,000 ไร่ เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง และอนุญาตให้ตั้งโรงงานได้ โดย EA จะพิจารณาเข้าซื้อหรือเช่าพื้นที่ในนิคมแห่งนี้ 500 ไร่ เพื่อสร้างโรงงาน ส่วนเครื่องจักรผลิตแบตเตอรี่จะมาถึงไทยในเดือนเม.ย.ปีหน้า คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้ง 7-8 เดือน จากนั้นจะเริ่มผลิตแบตเตอรี่โดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในระยะแรก คือ โรงไฟฟ้าพลังานหมุนเวียน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร EA ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์จากหลายค่ายที่มาร่วมพิธีติดตั้งใบพัดกังหันลมโครงการหนุมานวันนี้ (25 พ.ค.) ซึ่งสอบถามถึงอนาคตโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ EA ว่าจะสามารถแข่งขันกับโรงงานผลิตแบตฯในประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียได้หรือไม่ และหากค่ายรถยนต์รายใหญ่ในประเทศหันมาผลิตแบตฯและรถยนต์ไฟฟ้าเอง จะส่งผลกระทบต่อโรงงานแบตฯของ EA หรือไม่ โดยนายสมโภชน์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า โรงงานแบตฯและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ EA มีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้