TMB-ออมสิน ขาย บลจ.ธนชาต กำไร 4 พันลบ. เพิ่ม ROE แบงก์ใหม่

HoonSmart.com>> แบงก์ทหารไทย-ออมสิน เซ็นสัญญาขายหุ้น บลจ.ธนชาต ให้ “พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น โฮลดิ้งส์” กลุ่มอีสท์สปริง สิงคโปร์ 8,400 ล้านบาท รวมกับบลจ.ทหารไทย ปี 64 หนุนสินทรัพย์ขึ้นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม การขายหุ้นบลจ.ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับงบดุล เพื่อเพิ่ม ROE เดินหน้าตามแผนควบรวมกิจการสร้างประโยชน์ 3-4 หมื่นล้านบาทตามแผน 5 ปี เล็งลดลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ออกตราสารหนี้แทน  ลดขนาดเงินกองทุนขั้นที่ 1 นำไปจ่ายเงินปันผล

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 ธนาคารธนชาต และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 75% และ 25% ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต ตามลำดับ ได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นบลจ.ธนชาต ให้กับบริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นทั้งหมด (โดยอ้อม) ในบริษัท อีสท์สปริง อินเวสท์เม้นท์ (สิงคโปร์) คาดว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นทั้งหมดจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,400 ล้านบาท เมื่อนำบลจ.ธนชาตรวมกับบลจ.ทหารไทยที่มีอยู่ บลจ.ใหม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นลำดับที่ 4 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการประมาณ 6.50 แสนล้านบาท และเสนอบริการรอบด้านมากขึ้น จากบล.ทหารไทย เน้น กองทุน Passive และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ส่วนบลจ.ธนชาตเก่งด้านการลงทุนในหุ้น

” ในช่วงแรก ธนาคารทหารไทยจะขายหุ้นบลจ.ธนชาตสัดส่วน 25.1% และจะขายส่วนที่เหลือทั้งหมด 75% ภายใน 5 ปี ซึ่งการขายหุ้นออกไปครั้งนี้ จะมีกำไรสูงถึง 8,000 ล้านบาท หลังหักค่าใช้จ่ายและภาษีแล้วจะเหลือกำไร 4,000 ล้านบาท จากมูลค่าหุ้นตามบัญชีประมาณ 400 ล้านบาท แต่ขายออกไป 8,400 ล้านบาท นำไปตัดค่าพรีเมี่ยม จะช่วยสะท้อนค่าพรีเมี่ยมที่แท้จริงที่ทหารไทยต้องจ่ายในการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตต่ำกว่า 9,000 ล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมหากคำนวณตามมูลค่าทางบัญชีของธนาคารธนชาต ที่มีบลจ.ธนชาต และบล.ธนชาต มูลค่า 1.21 แสนล้านบาท บวกค่าพรีเมี่ยมอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท ดังนั้นการขายหุ้นบลจ.ธนชาตออกไปในราคาไม่ต่ำกว่า 6,300 ล้านบาท ก็เข้ามาชดเชยค่าพรีเมี่ยมที่จ่ายไป ถือเป็นวิธีการปรับงบดุล เพื่อทำให้อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ดีขึ้น ทำให้ไม่ต้องเพิ่มทุนจำนวนมากกว่าความจำเป็น ซึ่งระดมทุนจำนวน 1.3 แสนล้านบาท” นายปิติกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแผนการปรับงบดุล ในส่วนที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก รองรับการบริหารเงินฝาก บางธนาคารมีสัดส่วนถึง 20% แต่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำมาก ควรจะปรับลดการรับเงินฝากประจำของรายใหญ่ และหันไปออกตราสารหนี้แทน ทั้งในและต่างประเทศ นำมาปล่อยสินเชื่อ โดยธนาคารใหม่น่าจะมีอันดับเครดิตดีขึ้นใกล้เคียงกับเรทติ้งของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ดีขึ้น ก็มีส่วนช่วยเพิ่ม ROE การปรับงบดุล สร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น ประมาณ 6% เป็นส่วนหนึ่งของการควบรวมกิจการแล้วเกิดประโยชน์ 3-4 หมื่นล้านบาทตามแผน 5 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบัน ROE ของธนาคารทหารไทยอยู่ที่ 8.4 เท่า ธนชาต 11.0 เท่า รวมกันแล้ว ROE เฉลี่ย 10.7 เท่า แต่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายและผลกระทบอื่นๆ

ส่วนแผนอื่นๆ เช่น การลดค่าใช้จ่ายด้านสาขา ด้าน IT งบการตลาด สามารถประหยัดได้มากถึง 47% แต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาดำเนินการ เรื่องสาขาไม่มีนโยบายที่จะเอาพนักงานออก

นายปิติกล่าวว่า ธนาคารแห่งใหม่มีสินทรัพย์เกือบ 2 ล้านล้านบาท จะมีขนาดใหญ่อันดับ 6 ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ไม่มีนโยบายปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ และไม่มีนโยบายเร่งการเพิ่มสินทรัพย์ แนวโน้มสินเชื่ออาจจะติดลบ แต่ได้กำไรมากขึ้น โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงหรือต้องมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 จำนวนมาก จากการไปนำเสนอข้อมูลยังต่างประเทศ (โรดโชว์) พบคำถามว่าทำไมธนาคารพาณิชย์ไทยถึงต้องเก็บเงินกองทุนขั้นที่ 1 สูง และขอให้นำมาใช้ประโยชน์ เช่นการจ่ายเงินปันผล ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแต่ละแห่งมีเงินกองทุนที่ 1 สูง เตรียมไว้รองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPls) และรองรับการขยายธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยไม่ใช่เป็นแหล่งที่จะเติบโตสูงอีกแล้ว ไม่จำเป็นต้องเตรียมเงินกองทุนไว้สำหรับการขยายสินเชื่อ ควรจะปรับลดเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ใช้ให้เกิดประสิทธิ และนำไปจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นทิศทางที่ธนาคารใหม่จะควรจะไปในอนาคต