HoonSmart.com>>รัฐบาลมองหาช่องทางในการกระตุ้นกำลังซื้อ และเพิ่มการลงทุนในช่วงปลายปี เพื่อเร่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้วิ่งเข้าสู่เป้าหมาย 3% ในปี 2562 พร้อมผลักดันการขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว
หนึ่งในนั้นคือการเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินพร้อมจะเข้าสู่ระบบมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาหลายโครงการ “แป๊ก” ไปต่อไม่ได้ แม้ว่าจะได้ผู้ชนะประมูลมาตั้งนานแล้วก็ตาม เพราะติดขัดขั้นตอนของเอกสาร ระบบราชการ ข้อบังคับและกฎหมาย ทำให้การอนุมัติล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ผลก็คือเงินไม่หมุนเวียนอย่างที่ต้องการ รัฐบาลมองเห็นถึงอุปสรรคเหล่านี้ และพบว่าแก้ไขไม่ยาก
“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 20 ก.ย.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) จะมีการพิจารณาเฉพาะวาระของกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการเร่งรัดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะเข้าไปช่วยปลดล็อคในขั้นตอนหรือกติกาต่างๆ ตลอดจนการใช้งบประมาณ เพื่อให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถเดินหน้าและขับเคลื่อนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น
“บางโครงการที่ยังติดขัดในขั้นตอนก็จะช่วยปลดล็อค เช่น อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา เรื่องงบประมาณ การขับเคลื่อน ซึ่งมีหลายโครงการดีๆ ที่ยังติดขัดอยู่” กอบศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาล คสช.ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (ปี 2561-2580 ) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนผ่านแผนปฏิบัติการรายปี ในปี 2562 มีจำนวน 41 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนกว่า 1.77 ล้านล้านบาท สามารถผลักดันโครงการระบบรางได้สำเร็จหลายโครงการ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ เฟสแรก และเฟส 2 รวมถึงรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายเส้นทาง เช่น สายสีแดง และโครงการมอเตอร์เวย์ แต่ก็ยังมีโครงการอีกมากที่ขยับไม่ได้
นักวิเคราะห์ของบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) คาดว่าการปลดล็อคครั้งนี้ จะส่งผลบวกต่อหุ้นรับเหมาก่อสร้าง เพราะจะได้เดินหน้างานที่ได้มา รวมถึงโอกาสที่จะได้โครงการใหม่ ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีงานขนาดใหญ่เปิดให้ประมูลมูลค่ารวมสูงเป็น 6 แสนล้านบาท หากเร่งบางโครงการมาประมูลในปลายปี 2562 ได้จะยิ่งดี หลังจากผิดหวังผลงานบริษัทรับเหมาฯขนาดใหญ่ คาดว่าในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นตอบรับข่าวลบไปมากจนน่าสนใจ จึงยังคงแนะนำซื้อ STEC ราคาพื้นฐาน 22 บาท และ CK มูลค่า 28 บาท
การปลดล็อคครั้งนี้ น่าจะเกิดผลดีต่อ CK มากกว่า STEC เพราะต้นเหตุสำคัญที่ทุบราคาหุ้น CK ให้ดิ่งลงมาแรงและเร็วรอบนี้ จากเกือบ 30 บาท มาซื้อขายแถว20 บาทต้นๆ คือ นักลงทุนและนักวิเคราะห์ตกใจ ตัวเลขงานในมือที่รอรับรู้รายได้หรือ Backlog ที่เหลือเพียง 38,569 ล้านบาท นั่นหมายความว่า บริษัทช.การช่างจะอยู่ได้อีก 1 ปีครึ่ง หากไม่มีงานใหม่ๆ เข้ามาเติมพอร์ต กระทบต่อรายได้ในปี 2562 คาดว่าจะทำได้ประมาณ 25,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 25,000-30,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าจะมีรายได้เพียง 20,000 ล้านบาท จึงถูกปรับลดประมาณการกำไรในปี 2562-2563 และราคาเป้าหมายลง
” Backlog พลิกเป็นจุดอ่อนของ ช.การช่างทันที จากที่เคยเป็นจุดแข็ง เพราะบางปีมีสูงถึง 1 แสนล้านบาท สร้างความอุ่นใจให้กับผู้ถือหุ้น เป็นเบาะรองรับความเสี่ยงได้ทุกสถานการณ์ “
แต่ไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้ CK สามารถแก้สถานการณ์ไม่ยาก จากพอร์ตลงทุนที่แข็งแรง ทั้งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) และ บริษัท ทีทีดับบลิว (TTW) เป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เมื่อได้โครงการใหม่ ก็จะส่งต่อให้บริษัทแม่ ดำเนินการก่อสร้าง และปัจจุบัน CK ร่วมกับพันธมิตรเข้าร่วมประมูลงานเอง แต่พบอุปสรรคการส่งมอบพื้นที่ ทำให้โครงการล่าช้าหลายโครงการ
ปัจจุบันช.การช่างมีงานอยู่ในมือแน่นอน แต่ยังไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้ได้ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุน 2.2 แสนล้านบาท กลุ่มซีพี ชนะการประมูล โดย CK และ BEM ถือหุ้นรวมกัน 15% คาด CK จะได้งานก่อสร้างประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท การลงนามล่าช้า ติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่
โครงการก่อสร้างทางด่วนสองชั้นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท คาด BEM จะให้ CK ก่อสร้าง กำลังรอการเจรจาในขั้นสุดท้าย หลังจากนั้นจะทำ EIA ใช้เวลา 6 เดือน ก่อนที่จะลงมือก่อสร้างได้ สำหรับโครงการอื่นๆ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟทางคู่ ยังมีความล่าช้า หากรัฐเข้ามาช่วยหยอดน้ำมัน โครงการเดินหน้าต่อไปได้เร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มช.การช่างเป็นอย่างมาก
ส่วน STEC ราคาหุ้นถลาลงไปต่ำกว่า 20 บาท หลังจากนักลงทุนตกใจ ตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น) ในไตรมาส 2/2562 ที่เหลือเพียง 5% จากที่เคยสูงแถว 5.50-6.00% แต่ผู้บริหารยืนยันกับนักวิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิ และมาร์จิ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เริ่มผงกหัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป
ขณะที่มีงานในมือสูงกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท มั่นใจได้ว่ารายได้จะสร้างสถิติสูงสุดใหม่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในปีนี้จะทำได้ประมาณ 3-3.2 หมื่นล้านบาท และเพิ่มเป็น 3.7-3.8 หมื่นล้านบาทในปีหน้า ดังนั้นการแก้โจทย์ของรัฐบาล ให้โครงการต่างๆเดินหน้าเร็วขึ้น จึงไม่ได้แก้ปัญหาของ STEC ตรงจุดนัก สิ่งที่บริษัทต้องทำคือการหาโครงการที่มีกำไรสูงๆ เข้ามาเติมในพอร์ต ปัจจุบันนักวิเคราะห์ยังไม่แน่ใจว่ารายได้โตแล้วกำไรจะโตตามด้วยหรือไม่ เพราะงานที่ร่วมกับพันธมิตร บีทีเอส ได้โครงการรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ไม่แน่ใจว่างานก่อสร้างมีกำไรสูง จะต้องติดตามกันต่อไป
แต่การปลดล็อกของเมกะโปรเจกต์ เกิดประโยชน์กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องรับเหมาก่อสร้าง เช่น งานฐานราก (เสาเข็มเจาะ) “ชเนศวร์ แสงอารยะกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน (PYLON) มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มงานในมือที่รอรับรู้รายได้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 1,500 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาทต้นปีหน้า ส่วนรายได้ในปีนี้จะโตเข้าเป้า 1,500 ล้านบาท จากปีก่อน 1,436.91 ล้านบาท
หากรัฐบาลผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้เร็วขึ้นสำเร็จ จะเกิดผลดีต่อห่วงโซ่ธุรกิจก่อสร้าง เติมเงินในกระเป๋าประชาชนและสร้างความเจริญในทุกๆที่ที่โครงการเกิดขึ้น จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล!!