บจ.ดิ้นขายทรัพย์-คืนหนี้-รักษาชีวิต แปลก! PPPM ทิ้ง ACAP แรงส์

ในช่วงต้นเดือนก.ย. 2562 เกิดปรากฎการณ์ บริษัทหลายแห่งขายทรัพย์สินรวมถึงเงินลงทุน หมุนสภาพคล่องนำเงินไปชำระหนี้ ถึงขาดทุนก็ต้องยอมขายทุกราคา เพื่อรักษา “เครดิต” ไว้ก่อน หากไม่มี…ไปต่อลำบาก

HoonSmart.com>>บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC) เป็นหนึ่งในนั้น ประกาศขายที่ดิน โครงการ เค.ซี.พาร์ควิลล์ (บางนา-เทพารักษ์) โซนบี กว่า 24 ไร่ มาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่มีใครสนใจ เมื่อมี นางภคพร โลหวิบูลย์กิจ เสนอราคาเข้ามา 146 ล้านบาท แม้ว่าจะต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ที่ 160.39 ล้านบาท ส่วนต่างเกือบ 15 ล้านบาท แต่ด้วยความจำเป็น ต้องนำเงินไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทยจำนวน 103.42 ล้านบาท และเหลือเก็บไว้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนอีกส่วนหนึ่ง ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ สินค้าขายลำบากขึ้น

KC ได้ประโยชน์จากการขายที่ดินแปลงนี้ นอกจากนำเงินไป ลดหนี้ก้อนใหญ่ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 130 ล้านบาท ช่วยปลดภาระดอกเบี้ยจ่ายเดือนละ 550,000 บาท หรือประมาณ 6.6 ล้านบาทต่อปี พร้อมจำกัดความเสี่ยง เพราะหากบริษัทผิดนัดจะถูกบังคับขายที่ดินออกทอดตลาด อาจมีราคาขายเพียง 90 ล้านบาทเท่านั้น ประเมินราคาโดยผู้ประเมินอิสระ และเมื่อชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย ก็จะได้รับคืนหลักประกัน ที่ดินโครงการ เค.ซี.กรีนคาแนล มีโอกาสพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ สร้างรายได้และกำไรในอนาคต ธุรกิจจะได้เดินหน้าตามปกติต่อไป

แต่การขายทรัพย์สินหรือเงินลงทุนที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ กรณี บริษัท พีพี ไพร์ม (PPPM) ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดในบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) จำนวน 43.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 13.67% ของทุนเรียกชำระแล้ว

บริษัทแบ่งขายจำนวน 7.92% วันที่ 30 ส.ค. 2562 วันนั้นราคาปิดที่ 2.18 บาท และขายส่วนที่เหลือ 5.75% วันที่ 2 ก.ย. 2562 ราคาปิดที่ 2.08 บาท ประเมินว่า PPPM ได้รับเงินประมาณ 92.41 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าตามบัญชีอยู่ที่ 128.87 ล้านบาท คาดบริษัทขาดทุนถึง 36 ล้านบาท

ยอมรับได้กับผลขาดทุนที่เกิดขึ้น เพราะบริษัทจำเป็นต้องนำเงินไปชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดและขอยืดระยะเวลาการไถ่ถอนออกไป แลกกับการจ่ายดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นกู้ และธนาคารเจ้าหนี้คือ แบงก์ไทยพาณิชย์

แต่เกิดคำถามว่า ทำไมถึงเลือกทิ้งหุ้น  ACAP ทั้งหมด  จากเมื่อวันที่ 27  ส.ค. ที่ผ่านมา ยังแบ่งขายหุ้น บริษัท สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค (STAR) จำนวน  12.85 ล้านหุ้น หรือ 4.74% เหลือติดพอร์ตอีก 6.98%

เพราะการขายหุ้น ACAP จำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในตลาด ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลเสียต่อ PPPM เอง  ซ้ำเติมปัญหาขาดทุนมานาน

เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า PPPM มีเงินลงทุนในหุ้นหลายบริษัท   ในงบการเงินงวดไตรมาส 2/2562 บริษัทรายงานการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายอย่างน้อย 2 รายการ บริษัทแรกมีมูลค่าตามบัญชี 7.35 ล้านบาท โดยรับรู้กำไรจากการขายจำนวน 1.23 ล้านบาท และรับรู้ขาดทุนจากใบสำคัญแสดงสิทธิ์ฯที่หมดอายุในระหว่างงวดจำนวน 12.35 ล้านบาท บริษัทที่สองในเดือนก.ค. ขายหุ้นที่มีมูลค่าตามบัญชี 30.13 ล้านบาท รับรู้ขาดทุนจำนวน 3.03 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทยังมีการซื้อๆขายๆ ในระหว่างงวดอีกหลายรายการ และมีผลต่อผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน  แต่มีบางส่วนขายไม่ได้ เพราะบริษัทฯได้นำเงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวน 62.14 ล้านหุ้น มูลค่าตามบัญชี 93.91 ล้านบาท ไปเป็นหลักประกันในการออกหุ้นกู้

ตอนนี้สถานการณ์ของ PPPM ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้ว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ยอมรับเงื่อนไขในการเลื่อนระยะเวลาการไถ่ถอน แต่ถึงเวลานั้นบริษัทจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่าย หุ้นในพอร์ตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงขาลง เรื่องการขายโรงไฟฟ้าที่ลงทุนในญี่ปุ่น  ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จกันง่ายๆ เพราะในตลาดมีการนำออกมาเร่ขายหลายโครงการ

ทางด้านผลการดำเนินงาน ก็ยังคงประสบปัญหาการขาดทุนติดต่อกัน เกือบ 3 ปี รวมเป็นเงินกว่า 520 ล้านบาท ข้อมูลจากงบการเงิน ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2562 บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุนเข้ามาเพียง 97 ล้านบาท  ขณะที่มีกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินสุทธิ 114.07 ล้านบาท  มาจากการออกตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงิน 207   ล้านบาท ออกหุ้นกู้ 207.6 ล้านบาท

ปัจจัยพื้นฐานยังอ่อนแอมาก แต่น่าประหลาดใจที่ราคาหุ้น PPPM กลับปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขอเตือนนักเก็งกำไรหุ้น PPPM ทั้งหลายพึงระวัง อย่าเห็นแต่กำไรเพียงเล็กน้อย ระวังตกหลุมพลาง จะถูกกินรวบทั้งเงินต้นและกำไรที่ได้รับมาหมด