คอลัมน์ KTAM Focus : ดาวเรียงตัวกันในฉากสุดท้ายของ Super Mario

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประชุมนโยบายการเงินครั้งสำคัญ 12 กันยายน 2019 แม้ยังไม่ใช่นัดสุดท้ายอย่างเป็นทางการของ Mario Draghi ในฐานะประธาน (ยังเหลืออีกครั้งก่อนครบวาระ 31 ต.ค.) แต่ทุกสายตาในตลาดต่างจับจ้องและทุกหูต่างก็รอฟัง การแถลงข่าว ซึ่งเปรียบเสมือน “ฉากสุดท้าย” ของนายธนาคารกลางสายพิราบผู้มุ่งมั่นดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายแบบสุดขั้วตลอดระยะเวลา 8 ปีของการดำรงตำแหน่ง จนได้รับฉายา “Super Mario” เนื่องจากเป็นที่คาดหมายกันมานานหลายเดือนแล้วว่า ECB จะประกาศมาตรการผ่อนคลายการเงินขนานใหญ่ชุดสุดท้าย “Final Bazooka” ภายใต้การนำของท่านประธานชาวอิตาเลียน ในวันพฤหัสฯนี้

ผลกระทบทางตรงจากนโยบายผ่อนคลายการเงิน คือ ยีลด์พันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลงตามการลดดอกเบี้ยนโยบาย ยีลด์พันธบัตรอายุยาวๆปรับตัวลงเพราะธนาคารกลางเข้าซื้อ ขณะสกุลเงินของประเทศ/ตลาดที่มีการ “พิมพ์เงิน” เพิ่มมากๆภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE ในสหรัฐฯ, QQE ในญี่ปุ่น, APP ในยูโรโซน) ก็มักจะอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ …นักลงทุนจำนวนไม่น้อยจึงอาจกำลังคิดว่า ภายหลังการประชุม ECB สัปดาห์นี้ เงินยูโรจะอ่อนค่าลง? และยีลด์พันธบัตรยูโรโซน (19 ประเทศที่ใช้เงินยูโร) จะปรับตัวลง? แต่ผมกลับมองว่า มันจะเป็นไปในทางตรงข้าม!

เพราะ 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ECB ส่งสัญญาณแรงในการประชุม 6 มิ.ย. ว่าจะออกมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ ตลาดการเงินก็ซึมซับ “ความคาดหวัง” ดังกล่าวไปมากแล้ว เห็นได้จาก ยีลด์พันธบัตรยูโรโซนร่วงลง และ เงินยูโรอ่อนค่า

ยีลด์พันธบัตรอายุ 10 ปี: เยอรมนี “เจ้าหนี้ใหญ่” ยีลด์ร่วง 41 bps จาก 3 เดือนที่แล้ว -0.22% เหลือ -0.63% เมื่อวันศุกร์ ด้าน “ลูกหนี้” ร่วงแรงกว่า! โดยยีลด์ของ อิตาลี ปรับตัวลงมากถึง 161 bps จาก 2.49% เหลือ 0.88% ในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะนอกจากนักลงทุนจะแห่ซื้อพันธบัตรเพื่อดักรอมาตรการกระตุ้นแล้ว ยังได้รับข่าวดีเรื่องรัฐบาลผสมชุดใหม่ของอิตาลี

เงินยูโร อ่อนค่า 1.75% ใน 3 เดือนล่าสุด แต่หากมองยาวขึ้นจะเห็นว่า ยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่ามากว่าปีครึ่งแล้วโดย -12% นับตั้งแต่ผ่านจุดสูงสุด $1.255 ต้นปี 2018 จนปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ $1.103 ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

อย่าแปลกใจ! ถ้าพฤหัสฯนี้ Final Bazooka ของ Draghi จะจุดชนวน “ยูโรแข็งค่า” รอบใหม่ ขณะยีลด์พันธบัตรยูโรโซนอาจไม่ปรับตัวลง แต่พุ่งขึ้นด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะโดน sell-on-fact แล้ว “ฉากสุดท้าย” ของ Super Mario แปลว่านับจากนี้ ECB คงถึงคราว “หมดมุข” แทบไม่เหลือเครื่องมือให้ผ่อนคลายเพิ่ม แล้วตลาดก็คงหันไปสนใจการประชุมสัปดาห์หน้า (17-18 ก.ย.) ของธนาคารกลางที่ยังมี “มุข” อีกเพียบ (ลดดอกเบี้ยได้เยอะสุด) ก็คือ Fed …สถานการณ์ที่แตกต่างระหว่าง ECB และ Fed ชี้ว่า “ดอลลาร์” ต่างหากที่ควร “อ่อนค่า” และน่าจะอ่อนค่าได้มาก/ยาวนานด้วยเมื่อ “ดาวเรียงตัวกัน”

Stars Align (ดาวเรียงตัวกัน) หมายถึง “หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างประจวบเหมาะ แล้วก่อให้เกิดผลดีบางอย่าง” สำนวนดังกล่าวคงอธิบายลักษณะการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสัปดาห์ที่แล้วซึ่งสารพัด “ข่าวดี” ดาหน้ากันเข้ามาเริ่มจาก ผู้ว่าฯฮ่องกงยกเลิกร่างกฎหมายเจ้าปัญหา “จุดพลุ” พลิกอารมณ์นักลงทุน หนุนตลาดหุ้นฟื้นทั่วโลก (แม้ไม่ค่อยเกี่ยวปัจจัยพื้นฐานและการประท้วงก็ยังไม่ยุติ!) ตามมาด้วย นายกฯอังกฤษแพ้โหวตในสภา ช่วยลดความเสี่ยง No-deal Brexit ตลอดจน สหรัฐฯ-จีน จะกลับมาเจรจาการค้าเดือนหน้า ทั้งนี้ นอกจากหุ้นขึ้นแล้ว บรรยากาศที่นักลงทุน “กล้าเสี่ยง” (risk on) ก็ส่งผลกดดัน ดอลลาร์ ให้กลับมีแนวโน้มอ่อนค่าลงด้วย

ดาวเรียงตัวเช่นกัน ในแง่พื้นฐานกลยุทธ์ 3 ประการสำคัญ (ขอใช้ตัวย่อ “3P”) ชี้ชัดว่า ตลาดหุ้นรอบนี้ขึ้นจริง!

Policies : หลายประเทศทั่วโลกขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น รัฐบาลใช้นโยบายการคลังขยายตัวโดย จัดงบขาดดุล ลดภาษี เพิ่มการใช้จ่าย ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายโดย ลดดอกเบี้ย เพิ่มปริมาณเงินด้วยวิธีต่างๆ

Prices : ตราสารหนี้มียีลด์ต่ำลงมาก (ราคาแพงมาก) บางแห่งยีลด์ติดลบ ดังนั้น หุ้น หลายตลาดจึงดูน่าสนใจยิ่งขึ้นในแง่ระดับราคา เพราะถูกลงมากเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ หากพิจารณาด้วยวิธีพื้นฐานอย่างเช่น earning yield gap

Positions : ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีสถานะลงทุนที่หนาแน่นมาก (crowded) ผลจากการแห่เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยรวมถึงพันธบัตร ด้วยความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ปัจจุบันปัจจัยกดดันเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับนโยบายกระตุ้น ช่วยลดความเสี่ยงถดถอย และเพิ่มแรงผลักดันให้กระแสเงิน (fund flows) เริ่มไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ และน่าจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในระยะถัดไป โดยเป้าหมายแรกๆควรเป็น หุ้นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Equity) ซึ่งได้ประโยชน์มากที่สุดจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และแนวโน้มการอ่อนค่าในระยะยาวของเงินดอลลาร์

KTAM Emerging Markets Equity (KT-EMEQ) จึงสามารถเป็น Top Pick หรือ ทางเลือกแรกๆ สำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงกองทุนหุ้นต่างประเทศได้ ในมุมมองของเรา