กองทุนดันหุ้นมีลุ้น 1,700 จุด หวัง “มูดี้ส์” ปรับเครดิตไทย

HoonSmart.com>>สถาบัน-กองทุนไทย ซื้อหุ้นต่อเนื่อง ดันดัชนีหุ้นไทย วิ่งไร้เหตุผล บวก 11.15 จุด ดัชนีจ่อ 1,680 จุด โบรกเกอร์ลุ้นต.ค.นี้ มูดี้ส์ เพิ่มเครดิตไทย ดึงเงินทุนไหลเข้า ด้านบลจ.พรินซิเพิล คาดหุ้น 4 เดือนสุดท้ายแกว่งตัว กรอบ 1,600-1,750 จุด แนะหุ้น ดีเฟนซีฟ ปันผลสูง และหุ้นมีปัจจัยบวกหนุน ส่วนกลุ่มน่าสนใจ พาณิชย์ นิคมฯ

ดัชนีหุ้นไทย วันที่ 5 ก.ย. 62 ปรับตัวขึ้นอีก 11.15 จุด ปิดที่ 1,669.79 จุด มูลค่าซื้อขาย 59,868 ล้านบาท  ยอดรวมสะสม 1-5 ก.ย. สถาบัน-กองทุนซื้อสุทธิ 3,242 ล้านบาท  ต่างชาติ ขาย 1,933 ล้านบาท และนักลงทุนขาย 1,505 ล้านบาท

การซื้อหุ้นของสถาบัน-กองทุนไทย มีลุ้นที่ดัชนี SET จะปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 1,680 – 1,700 จุด ได้ ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยังเป็นตัวแปรกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก แต่การชุมนุมในฮ่องกง ผ่อนคลายลง

อย่างไรก็ตาม ที่ตลาดหุ้นไทย เดือนก.ย.นี้ ปรับตัวขึ้น เริ่มมีการพูดถึงโอกาสที่ สถาบันจัดอันดับมูดี้ส์ อินเวสเมนท์  หรือ มูดี้ส์ จะเพิ่มเรทติ้งประเทศไทย จาก Baa1 เป็น A3 ช่วงปลายปีนี้

ก่อนหน้านี้ กลางเดือนก.ค.62 สถาบันฟิท เรทติ้ง และมูดี้ส์ ได้ปรับเพิ่มมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยเป็น “บวก”  จากเดิม “คงที่” แต่ไม่ได้ปรับเรทติ้งประเทศไทยซึ่งตอนนั้น Fitch และ Moody มองว่าไทยมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกัน 5 ปี

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASP)  มองว่า โอกาสที่ไทยจะถูกปรับเรทติ้งขึ้นมี แต่เชื่อว่าน้อย เนื่องจาก หลายปัจจัยแวดล้อมของไทย ยังไม่สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว จากผลกระทบสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เงินบาทแข็งค่า กระทบต่อภาคส่งออก ทำให้การส่งออกไทยครึ่งปีแรกหดตัว 1.9%

หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/62 มีจำนวน 12.97 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 78.7% ของ GDP รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ที่มีแนวโน้มล่าช้าด้วย

ขณะที่บล.ทรีนีตี้  เชื่อว่า มีโอกาส 50:50 ที่มูดี้ส์อาจประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของไทยจากระดับปัจจุบันที่ Baa1 ในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านี้  หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นปัจจัยบวกต่อกระแส Fund flow โดยเฉพาะ Fund flow ในตลาดตราสารหนี้

ส่วน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส  มองว่า ตลาดหุ้นไทย วิ่งรับมูดี้ส์ ฯ ปรับเครดิตไทยเดือนต.ค.นี้ เป็นระดับ A3 หากมีการปรับจริง จะเป็นปัจจจัยบวกภาคอุตสาหกรรม เกษตร ยานยนต์

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายปีนี้ คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนจากปัจจัยลบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งหากไม่มีปัจจัยลบต่างประเทศใหม่เพิ่ม คาดดัชนีน่าจะไปต่อได้ โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,600-1,750 จุด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ผสมพอร์ตการลงทุนโดยเน้นหุ้น Defensive หุ้นปันผลสูง ในกลุ่มพาณิชย์และโรงพยาบาล เป็นต้น รวมถึงหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยบวกสนับสนุนและหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเติบโตมากในไตรมาสสุดท้ายและได้ผลดีจากโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการลงทุนในหุ้นไทยธีมเดียวกับหุ้นต่างประเทศ ต้องเน้นหุ้น Defensive มากขึ้นและหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ โดยตลาดที่น่าสนใจได้แก่ ญี่ปุ่น จีนและเวียดนาม

“ตอนนี้หุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างแพง กำไรเติบโตน้อยลง กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดจากโตเลข 2 หลักเหลือไม่ถึง 5% จึงทำให้ราคาหุ้นอาจไม่ขึ้น เพราะแพงพี/อี 15.5 เท่า ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้แนะนำให้ปรับพอร์ตจากหุ้นขนาดใหญ่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก เนื่องจากหุ้นใหญ่ปรับตัวขึ้นไปมากอาจมีแรงขายทำกำไร ต่างจากหุ้นขนาดกลางและเล็กราคาย่อตัวลงมา โดยหากดัชนีเข้าใกล้ 1,600 จุดหรือหลุด 1,600 จุด แนะนำเพิ่มการลงทุน”นายวิน กล่าว

อ่านประกอบ

บลจ.พรินซิเพิล แนะลดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงเน้นหุ้นดีเฟนซีฟ-ปันผลสูง