HoonSmart.com>> บลจ.พรินซิเพิล มองลงทุน 4 เดือนสุดท้ายผันผวน สงครามการค้ายังกดดันลงทุน คาดกรอบดัชนีหุ้น 1,600-1,750 จุด แนะลดน้ำหนักหุ้นใหญ่ราคาแพง เสี่ยงถูกขายทำกำไร ทยอยเก็บหุ้นขนาดกลางและเล็กเข้าพอร์ต โฟกัสหุ้น Defensive ปันผลสูงและหุ้นรายตัวมีปัจจัยหนุน พร้อมแนะนำพอร์ตลงทุนลดสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มตราสารหนี้ระยะสั้น
นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ยังมีความผันผวนจากปัจจัยลบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัว จึงแนะนำให้ปรับลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงและเพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้ระยะสั้น โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้
สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดว่าเติบโตประมาณ 3% ผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งออกติดลบและความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งไม่คิดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ แต่ส่งสัญญาณไปยังนโยบายทางการคลังมากกว่า
นายวิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงมีความผันผวน ซึ่งหากไม่มีปัจจัยลบต่างประเทศใหม่เพิ่ม คาดว่าหุ้นไทยน่าจะไปต่อได้ แต่อาจขึ้นได้จำกัด เนื่องจากราคาเพิ่มแพงเมื่อเทียบเพื่อนบ้าน โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,600-1,750 จุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ผสมพอร์ตการลงทุนโดยเน้นหุ้น Defensive หุ้นปันผลสูง ในกลุ่มพาณิชย์และโรงพยาบาล เป็นต้น รวมถึงหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยบวกสนับสนุนและหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเติบโตมากในไตรมาสสุดท้ายและได้ผลดีจากโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการลงทุนในหุ้นไทยธีมเดียวกับหุ้นต่างประเทศ ต้องเน้นหุ้น Defensive มากขึ้นและหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ โดยตลาดที่น่าสนใจได้แก่ ญี่ปุ่น จีนและเวียดนาม
“ตอนนี้หุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างแพง กำไรเติบโตน้อยลง กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดจากโตเลข 2 หลักเหลือไม่ถึง 5% จึงทำให้ราคาหุ้นอาจไม่ขึ้น เพราะแพงพี/อี 15.5 เท่า ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้แนะนำให้ปรับพอร์ตจากหุ้นขนาดใหญ่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก เนื่องจากหุ้นใหญ่ปรับตัวขึ้นไปมากอาจมีแรงขายทำกำไร ต่างจากหุ้นขนาดกลางและเล็กราคาย่อตัวลงมา โดยหากดัชนีเข้าใกล้ 1,600 จุดหรือหลุด 1,600 จุด แนะนำเพิ่มการลงทุน”นายวิน กล่าว
สำหรับเงินลงทุนของต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่่งเป็นผลจากการการปรับวิธีคำนวณ Foreign Ownership Limit (FOL) ของดัชนี MSCI ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยกว่า 40,000 ล้านบาท แต่หลังจากนี้หุ้นไทยจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นจีน A-Share ของ MSCI จาก 10% เป็น 20% ในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้หุ้นไทยถูกดึงเม็ดเงินออกไปและตามแผนจะทำอย่างต่อเนื่องจนครบ 100%
นายวิน กล่าวว่า พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมในช่วงที่เหลือของปีนี้แแบบ Balance ตามแผนการลงทุนของ Principal Asset Allocation Plan แบบ Tactical Asset Allocation (TAA) โดยลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงแล้วหันมาเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์มั่งคงแทน แบ่งสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 54% จากเดิม 40% หุ้นไทยเหลือ 12% จาก 15% หุ้นโลกเหลือ 12% จาก 15% และทองคำเหลือ 2% จาก 5%