HoonSmart.com>> กลุ่มพรินซิเพิล หนุนนักลงทุนสถาบันใช้ ESG วางกลยุทธ์บริหารสินทรัพย์ แนะเลือกหุ้นและตราสารหนี้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล ช่วยยกระดับตลาดหุ้นไทย มั่นใจตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล จัดงาน The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 5 : Empowering Investment of Retirement Fund with ESG เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายแพททริค ฮาวเตอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรินซิเพิล โกลบอล อินเวสท์เตอร์ส เปิดเผยว่า กลุ่มนักลงทุนสถาบันได้ปรับปรุงกลยุทธ์และแนวทางการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อาทิ หุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ โดยนำปัจจัยด้าน ESG (Environmental Social Governance) หรือปัจจัยด้านการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนเพื่อคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลงทุนที่จะสร้างความยั่งยืนในระยะยาวและยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนล้วนมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มพรินซิเพิลได้ให้บริการรับบริหารเงินลงทุนโดยเน้นปัจจัยด้าน ESG และยึดมั่นแนวทางลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบมาโดยตลอด สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญด้าน ESG และกลุ่มพรินซิเพิลได้นำปัจจัยดังกล่าวไปใช้กับการบริหารสินทรัพย์ทุกประเภท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าวางแผนการลงทุนเพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่สำคัญ 2 ข้อคือ การปกป้องทรัพย์สินหรือเงินลงทุนของลูกค้า พร้อมกับมอบอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ลูกค้าทุกราย
กลุ่มพรินซิเพิล ซึ่งปัจจุบันรับบริหารเงินลงทุนให้แก่ลูกค้ากว่า 21 ล้านคนทั่วโลก ได้ลงนามเข้าร่วมภาคีเครือข่าย United Nations-sponsored Principles for Responsible Investing (UNPRI) และได้รับการจัดอันดับ A+ ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของการประเมินผลด้าน ESG โดยการนำปัจจัย ESG มาใช้ในการลงทุน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ 1.Screening (การคัดกรอง) ได้แก่ Negative Screening หรือการคัดกรองเชิงลบ เช่น การกำหนดว่าจะไม่ลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบเชิงลบกับสังคมหรือเป็นบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล Positive Screening หรือการคัดกรองเชิงบวก เช่น เลือกลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ Norm-Base Screening หรือการคัดกรองโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำเป็นบรรทัดฐาน 2. Full ESG Integration หรือการนำปัจจัย ESG ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล มาใช้บูรณาอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์โครงสร้างทางการเงิน ฯลฯ 3. Impact/ Thematic หรือการกำหนดธีมหรือเซกเตอร์ธุรกิจที่จะเข้าลงทุน และ 4. Engagement/ Stewardshipหรือการเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่จะเข้าลงทุนเพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของ ESG
“ข้อมูลจาก Global Sustainable Investment Review ณ ปีที่ผ่านมาระบุว่า ทั่วโลกมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความยั่งยืนและคำนึงถึงปัจจัย ESG รวมมูลค่า 31 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นมาตลอดนับจากปี 2016 – 2018 (2559 – 2561) ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและญี่ปุ่น มีการเพิ่มสัดส่วนลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ ESG อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2557 – 2561 โดยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าประมาณ 2 ใน 3 ของกองทุนแถบยุโรปที่ใช้กลยุทธ์ ESG มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองทุนทั่วไป” มิสเตอร์แพททริค กล่าว
นายกสิน สุตันติวรคุณ FCAS, FSAT, Wealth Solutions Leader and Consulting Actuary บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านการลงทุนชั้นนำ กล่าวว่า มีเหตุผลหลัก 3 ข้อที่ผู้จัดการกองทุนควรนำปัจจัย ESG มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้แก่ Risk Management หรือการบริหารเสี่ยงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น Return หรือช่วยเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และ Reputation หรือความมีชื่อเสียง โดยบริษัทฯ แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ขั้นตอนคือ 1.Belief โดยเริ่มต้นจากการกำหนดความเชื่อ เช่น เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) 2.Policy หรือการนำความเชื่อมากำหนดเป็นนโยบายการลงทุน เช่น ประเภทธุรกิจที่จะลงทุนหรือไม่เลือกลงทุน 3.Process การกำหนดกระบวนและกลยุทธ์การลงทุน และ 4.Porfolio หรือการสร้างพอร์ตลงทุน
ด้านนางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า บทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต. กับ ESG มุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกต่อการนำ ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักการดำเนินธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการผลักดันจากภาคสังคมเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยในปี 2560 ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนหรือ Corporate Governance Code (CG Code) 8 ข้อที่เปรียบเสมือนศีล 8 ในภาคการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดหลักธรรมาภิบาลการลงทุน 7 ข้อสำหรับนักลงทุนสถาบันหรือ Investment Governance Code (I Code) จึงทำให้นักลงทุนสถาบันสนใจด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันที่ปฏิบัติตามหลักการ I Code รวม 60 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 22 แห่ง บริษัทหลักทรัพย์ 24 แห่ง และบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย 14 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับบริหารรวมกัน 9.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 61% ของจีดีพีประเทศไทย
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2561 มีบริษัทจดทะเบียนที่เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) จำนวน 19 บริษัท ถือว่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และได้รับการประเมินคะแนน ASEAN CG Scorecard ในปี 2560 อยู่ที่ 85% เพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ที่ 67% โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมให้นำปัจจัยดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจและ Value Chain (ห่วงโซคุณค่า) ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการปล่อยน้ำเสีย กำจัดขยะ ฯลฯ และมีการมอบรางวัล SET Awards และ SD Awards เพื่อส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กบข.นำปัจจัย ESG เข้ามาใช้บริหารและจัดพอร์ตการลงทุน โดยร่วมกับผู้จัดการกองทุนปรับหลักเกณฑ์การลงทุน เช่น เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึง ESG ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้นและให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่สม่ำเสมอ ล่าสุด กบข.ร่วมกับนักลงทุนสถาบันทั้งหมด 32 ราย ซึ่งมีพอร์ตสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นประมาณ 10.88 ล้านล้านบาท ลงนามใน Negative List Guideline เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงในบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงไม่มีธรรมาภิบาล ตลอดจนสนับสนุนการเข้าลงทุนในบริษัทที่มี ESG อีกด้วย
ดร.ชัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และนายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า กคช.ได้นำปัจจัย ESG มาใช้กำหนดยุทธศาสตร์องค์กร ส่งผลให้ผลประกอบการขององค์กรดีขึ้น ซึ่ง กคช. จะเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเน้นธรรมภิบาลที่ดี โดยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของ กคช. จะต้องผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สวล.) การวางแผนบริหารจัดการชุมชนที่ดีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน และการยึดหลักธรรมาภิบาลรวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน อาทิ การจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง การขายโครงการที่อยู่อาศัย ฯลฯ นอกจากนี้ กคช.ยังจัดให้มีการมอบรางวัลแก่โครงการที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในโครงการ