HoonSmart.com>> SCB WEALTH คาดเศรษฐโลกขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 2.5% จาก 2.8% ผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0 ด้านไทยโต 2.4% คาดเฟดลดดอกเบี้ยรวม 50 BPS แบงก์ชาติ ลด 1 ครั้งในครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 2% ย้ำตลาดหุ้นสหรัฐโดดเด่นที่สุด เน้นลงทุนยาวหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี AI แม้มี Valuation ที่สูง มองดัชนีอยู่ที่ 1,550 จุด เหมาะลงทุนแบบเก็งกำไรตามจังหวะตลาด
SCB WEALTH ที่ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่ครอบคลุมทุกมิติของ SCB WEALTH Holistic จัดงาน SCB WEALTH Holistic Experts ในหัวข้อ “Tomorrow’s Wealth: Key Investment Trends Defining 2025”
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Wealth & Investment Product ธนาคารไทยพาณิชย์ เน้นย้ำว่า SCB WEALTH ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาแนวทางการลงทุนที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ พร้อมเสริมสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในอนาคต เน้นการวางแผนที่ครอบคลุมแบบองค์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เพื่อช่วยนักลงทุนบริหารความเสี่ยงและโอกาสในระยะยาว โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เน้นคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนเฉพาะบุคคลตามเป้าหมายในแต่ละช่วงชีวิต (State of Life) เพื่อจะได้สะสมและสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นคงทางการเงินทั้งในวัยทำงานและเกษียณ รวมถึงสามารถส่งต่อทรัพย์สินให้รุ่นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จีดีพีโลกชะลอตัวเหลือ 2.5%
ดร. ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2568 ชะลอตัวลงจากปีก่อน เหลือ 2.5% จาก 2.8% แม้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงและดอกเบี้ยปรับลดต่อเนื่อง แต่ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น นโยบาย Trump 2.0 ยังกดดันเศรษฐกิจโลกผ่านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน หลายประเทศออกมาตรการรองรับผลกระทบ แต่ปัญหาการเมืองในบางพื้นที่อาจทำให้มาตรการขาดประสิทธิภาพ
สำหรับ แนวโน้มดอกเบี้ยโลก คาดสหรัฐฯลดดอกเบี้ย 50 BPS รองรับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าและการกระตุ้นลงทุน ส่วนยุโรปและจีนอาจลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดที่ 125 BPS และ 50 BPS ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่เงินเฟ้อโลกไม่เร่งตัวเพราะเศรษฐกิจแย่ลงและราคาพลังงานลดลง
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดโตเพียง 2.4% จากผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 ที่เพิ่มการกีดกันการค้า ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว การแข่งขันสินค้าลดลง และการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวเล็กน้อยจากภาวะอุตสาหกรรมเปราะบาง รายได้ครัวเรือนยังฟื้นตัวจำกัด หนี้ครัวเรือนสูง กดดันการบริโภค ขณะเดียวกันคุณภาพสินเชื่อรายย่อยยังเปราะบาง
SCB EIC คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยจะลดลงอีก 1 ครั้งในครึ่งแรกของปี เหลือ 2% เพื่อบรรเทาภาระหนี้และลดผลกระทบจากภาวะการเงินตึงตัว โดยการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการรับมือความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคต
จับตา 3 ประเด็นโลก
น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการ Investment Research, SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า ในปี 2568 ตลาดหุ้นจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าสินทรัพย์อื่น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การลงทุนโลก 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.ความไม่แน่นอนจากนโยบาย Trump 2.0 เช่น กีดกันผู้อพยพ การผ่อนคลายกฎระเบียบ การขึ้นภาษีนำเข้า และการลดภาษีเงินได้ มีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อตลาดหุ้น
ด้านบวก ได้แก่ การผ่อนคลายกฎระเบียบและคุมขาดดุลงบประมาณอาจกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสในสินทรัพย์เสี่ยง
ด้านลบ ได้แก่การขึ้นภาษีนำเข้าสูงและยืดเวลาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจเพิ่มขาดดุลงบประมาณ กระตุ้นเงินเฟ้อ และทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ขัดกับเป้าหมายการสนับสนุนภาคการผลิตของ Trump
2.ความกังวลเรื่องแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ โดยนโยบายทรัมป์อาจทำให้เฟดลดดอกเบี้ยได้ช้าลง ส่งผลให้ Bond Yield ระยะสั้นปรับลดได้จำกัด ขณะที่ Bond Yield ระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เส้น UST Yield Curve ชันขึ้น การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ได้รับผลกระทบน้อยกว่าระยะยาว
อย่างไรก็ตาม หากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เช่น การตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรง ตลาดอาจปรับเพิ่มคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของ Fed และทำให้ Bond Yield มีโอกาสลดลงได้
3.การเติบโตของ AI หนุนเศรษฐกิจและการลงทุน โดย AI ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน AI เช่น ศูนย์ข้อมูล ระบบประมวลผล และแหล่งพลังงาน จะมีบทบาทสำคัญ โอกาสการลงทุนครอบคลุมทั้งกลุ่มเทคโนโลยี เช่น Software รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Utilities และการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ลงทุนสั้น-ยาว ในสินทรัพย์อะไร ตลาดไหน?
สำหรับ ปี 2568 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดดเด่นที่สุดในปีนี้ ด้วยแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตดีและกระจายวงกว้าง แม้ Valuation สูง แต่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่เกาะกระแส AI และกลุ่ม Defensive ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อความไม่แน่นอนด้านนโยบาย
สำหรับการลงทุนระยะสั้น หุ้นขนาดกลาง-เล็กในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
ด้านตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น จีน A-Share, อินเดีย, อินโดนีเซีย และไทย เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว แม้เผชิญแรงกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์แข็งค่า
ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งอาจถูกยกระดับเป็นตลาดเกิดใหม่ มีโอกาสลงทุนระยะสั้น
ทั้งนี้ แนะลดความเสี่ยงพอร์ต โดยลงทุนในหุ้นกู้ Investment Grade ของสหรัฐฯ ที่มี Duration สั้น พร้อมแบ่งเงินใน REITs และสินทรัพย์ผสมเพื่อสร้างกระแสเงินสด เพิ่มการลงทุนใน ทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนจากสงคราม
3 อุตฯไทยอนาคตดี
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินเป้าหมาย SET Index ปี 2568 ที่ 1,550 จุด จากการเติบโตของผลการดำเนินงาน และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนโดดเด่น จะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้ภายในประเทศสูงและเป็นกลุ่มเชิงรับ อาทิเช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มการแพทย์และกลุ่มพาณิชย์
สำหรับหุ้นแนะนำแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) Value stock ได้แก่หุ้น AOT,BBL และ CPALL 2) Dividend stock ได้แก่หุ้น AP,BCP และ LHHOTEL 3) Laggard stock ได้แก่หุ้น BCH,GPSC และ HMPRO และ 4) Mid-small cap growth ได้แก่ หุ้น AMATA , AU และ INSET
ทางรุ่งธุรกิจครอบครัว
ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ว่า ลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งและธุรกิจครอบครัวให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินเพื่ออนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพย์สินและการส่งต่อธุรกิจให้คนรุ่นหลัง
ธนาคารจึงมีบริการครบวงจร ทั้งแบบ Wealth Planning and Family Office เพื่อช่วยลูกค้าตั้งแต่การลงทุนเพิ่มพูนทรัพย์สิน ไปจนถึงการวางแผนส่งต่อมรดกและธุรกิจให้ลูกหลานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าทรัพย์สินของครอบครัวจะเติบโตและส่งต่อได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ บริการ Wealth Planning อาทิ การวางรากฐานแนวความคิดของครอบครัว แนวการดำเนินการธุรกิจครอบครัวและการเชื่อมต่อจากรุ่นสู่รุ่น ธรรมนูญครอบครัว สัญญาก่อนสมรส บัญชีทรัพย์สิน พินัยกรรม กลไกการขจัดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว
ในด้านธุรกิจครอบครัว (Family Business) จะเป็นการให้คำแนะนำในด้านการวางแผนจัดตั้งบริษัท Holding การจัดตั้งบริษัทเพื่อการลงทุน การต่อยอดในธุรกิจเดิมและการขยายในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) การวางแผนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO : Initial Public Offering)การควบรวมกิจการ (M&A)
การวางแผนเพื่อการปกป้องกันธุรกิจครอบครัว ไม่ให้ตกเป็นของบุคคลภายนอก หรือการวางกลยุทธ์สำหรับการออกจากธุรกิจเดิมไปยังธุรกิจใหม่
การวางแผนประกันชีวิตและภาษีเพื่อการส่งต่อความมั่งคั่ง และภาษีรับมรดก รวมถึงภาษีที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น