HoonSmart.com>> กองทุนโรงไฟฟ้า SUPEREIF เปิดชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ “ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ฯ” ถือสูงสุด 20% ด้าน “กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต” และ “เมืองไทยประกันชีวิต” จองซื้อรายละ 9.07% บลจ.บัวหลวง ชูรายได้มั่นคงกินยาว สัญญาซื้อขายไฟยาว 22 ปี พร้อมเข้าซื้อขายในตลาด 21 ส.ค.นี้
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังการเสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) มีผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ 3 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ถือหน่วยลงทุน 20.00% บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยลงทุน 9.07% และ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยลงทุน 9.07%
SUPEREIF เป็นกองทุนที่ลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดย บลจ. ได้พิจารณาและประเมินศักยภาพของทรัพย์สินแล้วว่า สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่อง จากการที่โครงการโรงไฟฟ้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งมีอายุคงเหลือประมาณ 22 ปี และมีการกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่แน่นอนกับ กฟภ. และ กฟน. ดังนั้น การลงทุนในกองทุน SUPEREIF จึงเป็นโอกาสและทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่จะได้มีส่วนร่วมลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวและสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ SUPEREIF มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง โดยรวมแล้วในแต่ละรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุง ทั้งนี้ SUPEREIF เสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้จองซื้อทั่วไป ระหว่างวันที่ 22-26 และ 30-31 กรกฎาคม 2562 ผู้จองซื้อพิเศษและผู้สนับสนุน ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 จำนวน 515 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละ 10 บาท รวมมูลค่าเสนอขาย 5,150 ล้านบาท โดยมีบลจ.บัวหลวง เป็นบริษัทจัดการกองทุน และ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับกองทุนรวม SUPEREIF เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SUPEREIF” ในวันที่ 21 สิงหาคม 2562
SUPEREIF ลงทุนในรายได้สุทธิที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดเล็กมาก (VSPP) ของ บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งหมด 19 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 118 เมกะวัตต์ รายได้หลักของโรงไฟฟ้าจะมาจากการขายไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง (แล้วแต่กรณี) โดยโครงการได้รับสัญญารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ หรือ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย มีระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละโครงการคงเหลือประมาณ 21-22 ปี (นับจากเดือนสิงหาคม 2562) และโรงไฟฟ้าแต่ละโครงการได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์มาแล้วเป็นเวลากว่า 3 ปี