แน่งน้อยร้อยเรื่องลงทุน : “เสี่ยเจริญ” เพิ่มจุดแข็งธุรกิจ โตทุกสถานการณ์

HoonSmart.com>>สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีนัดแถลงตัวเลขเศรษฐกิจงวดไตรมาส 2/2562 ตลาดคาดว่าจะหดตัวลงแรง ตามการส่งออกที่โตติดลบ แต่ไม่มีผลต่อธุรกิจของ”เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี”มากนัก บริษัทหลายแห่งยังคงมีกำไรโตก้าวกระโดดในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา

หัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจในกลุ่มเสี่ยเจริญเอาชนะได้ทุกสถานการณ์ คือ “ความครบเครื่อง” โมเดลธุรกิจมีการต่อจิ๊กซอว์ภายในกลุ่ม และเติมธุรกิจใหม่ๆ  ให้ทุกบริษัทมีแหล่งรายได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง พร้อมหาโอกาสซื้อกิจการนำมาควบรวม โตเร็วทางลัด-กระจายความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็พร้อมขายเงินลงทุนหรือทรัพย์สินออกไป  ขนาดของกิจการสร้างความได้เปรียบในหลายด้าน  มีอำนาจในการเจรจาต่อรองที่สูงมาก สามารถหาของดีราคาถูกเข้าพอร์ต

นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการเงินรอบด้าน  โดยเฉพาะจุดเด่นของหุ้นเป็นที่ต้องการของนักลงทุนสถาบัน สามารถเสนอขายเฉพาะเจาะจง (พีพี) ได้บ่อยครั้ง  ไม่ต้องใช้เงินสดหรือสินเชื่อมาลงทุนขนาดใหญ่  ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน  เพิ่มอัตรากำไร และยังขายทรัพย์สินเข้ากองทุน ได้ทั้งเงินสดและได้กำไรทำให้งบการเงินดูดียิ่งขึ้น

แต่ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะคิดได้ และทำได้สำเร็จ คีย์แมนสำคัญของ”กลุ่มสิริวัฒนภักดี” คือคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีไอเดียล้ำ  เล็งเห็นการณ์ไกลของธุรกิจก่อนคนอื่น และตัดสินใจฉับไว

การเข้าลงทุนและสร้างบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เห็นผลการเติบโตแบบก้าวกระโดดชัดเจน มาร์เก็ตแคปจาก 5 หมื่นล้านบาท พุ่งมาสูงกว่า 2 แสนล้านบาทในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ  ไตรมาส 2/2562 มีกำไรสุทธิ 1,527 ล้านบาท เติบโต 9.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ทำได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์   เพราะ 5 ธุรกิจรวมพลังสร้างรายได้รวมสูงถึง 44,479 บาท  เชื่อว่าแนวโน้มยังไปได้ดีด้วยความแข็งแกร่งของรายได้ หุ้น BJC ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทุกระดับ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก  ขยายอาณาจักรเข้าครอบครองพื้นที่ธุรกิจกว้างขึ้น  บริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) มีกำไรดี มีรายได้จากค่าเช่า ,ธุรกิจโรงแรม มาเสริมการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่เริ่มประกาศใช้วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

บริษัท ยูนิเวนเจอร์ (UV) ทำธุรกิจโฮลดิ้ง มีกำไร 213 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย อนาคตยังต้องจับตาว่าจะก้าวไปไกลแค่ไหน

จะบุกธุรกิจอะไร หลังขายหุ้น GOLD ออกทั้งหมด 39.28% ให้กับบริษัทในกลุ่ม  เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)หรือ FPT  ได้เงินมาทั้งสิ้น 7,738 ล้านบาท แบ่งเป็นกำไรประมาณ 2,463 ล้านบาท รอจ่ายเงินปันผล ส่วนที่เหลือนำไปต่อยอดธุรกิจเดิมและหาธุรกิจใหม่  แต่ที่แน่ๆ ธุรกิจเสี่ยงน้อยลงจากการพึ่งพาธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอาศัยจาก GOLD มากเกินไป

“FPT จะมีพอร์ตที่แข็งแกร่งมาก  หลังลงทุนเพิ่มใน GOLD   และผนึกกำลังเกิดโครงการมิกซ์ยูส  ในพื้นที่ยุทธศาสตร์บางนา-ตราด  4,300 ไร่  สร้างเมืองอุตสาหกรรม เสริมการเป็น เบอร์ 1 คลังสินค้า Build-to-Suit  ขณะที่ GOLD รอเก็บเกี่ยว โครงการสามย่านมิตรทาวน์ มิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 8,500 ล้านบาท ที่เข้าไปร่วมลงทุน”

ธุรกิจสื่อทีวีธุรกิจสิ่งพิมพ์ ใครว่าทำยาก แต่ไม่ใช่กลุ่ม “สิริวัฒนภักดี” เพิ่งเข้าไปถือใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN) ก็สามารถพลิกฟื้นธุรกิจ และมีกำไรเกือบ 10 ล้านบาท  เรทติ้งที่ดีขึ้น การมีธุรกิจในกลุ่มไปใช้บริการ หนุนผลงานไปได้ไกลกว่านี้

ปัจจุบันมีเพียงบริษัทอาหารสยาม (SFP) ที่ขาดทุนถึง 153 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากการส่งออกตกต่ำและภาวะภัยแล้ง ทำให้ปริมาณสับปะรดสดเข้าผลิตต่ำ โรงงานไม่ได้ใช้การผลิตเต็มกำลัง เชื่อว่าในอีกไม่ช้านี้ SFP จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง คงปล่อยให้ธุรกิจตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนอย่างนี้ไปไม่ได้

สรุปโดยรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มสิริวัฒนภักดี”มีการเติบโต มีเงินปันผลติดไม้ติดมือพอสมควร  หากราคาหุ้นปรับตัวลงตามภาวะตลาด อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเลือกซื้อเก็บไว้เป็นแหล่งหลบภัยในสถานการณ์ที่โลกตกอยู่ในความกังวล