หุ้นอาเซียน & หุ้นอินเดีย พร้อมรับมือสงครามการค้าลากยาว

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

ปธน.ทรัมป์ ช็อกโลก! ประกาศเก็บภาษี 10% สินค้านำเข้าจากจีนชุดสุดท้าย 3 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมขู่จะเก็บเพิ่มขึ้นอีก หากจีนยังดึงเกมเจรจาการค้าหวังให้ลากยาวถึงปีหน้า เพื่อลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“ปัจจัยเสี่ยง” กลายเป็น “ปัจจัยลบ” ผู้นำสหรัฐฯใช้การขึ้นภาษี 3 แสนล้านสุดท้าย ขู่จีนมานานจนดูเหมือนมันน่าจะเป็น “ไพ่ใบท้ายๆ” ของทรัมป์ ซึ่งในที่สุดก็ถูกเปิดออกและกลายเป็นเรื่องจริง …ในแง่การลงทุน เรื่องนี้เป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ก่อให้เกิด “ความไม่แน่นอน” ว่าจะทำจริงหรือไม่? นับตั้งแต่เริ่มมีการขู่กันจนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดีก่อนที่ทรัมป์จะประกาศ แต่พอกลายเป็นจริงขึ้นมา ปัจจัยเสี่ยงประเด็นนี้ก็หายไป กลายเป็น “ปัจจัยลบ” ซึ่งสะท้อนอยู่ในราคาสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงรับข่าว… การเข้าใจ ความแตกต่างระหว่าง “ปัจจัยเสี่ยง” กับ “ปัจจัยลบ” ดังที่กล่าวมานั้นเป็นประโยชน์มากต่อการตัดสินใจลงทุน เพราะเมื่อความเสี่ยงสำคัญประการหนึ่งซึ่งเคยปกคลุมตลาดมาอย่างยาวนานได้ “หายไป” หรือลดลงมากแล้ว ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจึงดู “กระจ่างใส” น่าลงทุนยิ่งขึ้น! ไม่ได้แย่ลงอย่างที่คนส่วนใหญ่อาจจะวิตกกังวลกันอยู่

ความผันผวนในระยะสั้น (เพราะโดนทำลายบรรยากาศสองวันซ้อน ตั้งแต่เฟดลดดอกเบี้ยแบบไม่น่าประทับใจคืนวันพุธ ต่อด้วย “ทรัมป์ทวีต” วันพฤหัส) เปิดโอกาสให้ “ช้อปปิ้ง” เลือกซื้อกองทุนหุ้นในจังหวะที่กำลัง “ลดราคา” โดยเราโฟกัส 2 ตลาดที่คิดว่าน่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ หากต้องทำใจใช้ชีวิตอยู่กับ “ปัจจัยลบ” สงครามการค้า ไปอีกยาวนาน

กองทุนหุ้นอาเซียน เช่น KT-ASEAN เนื่องจาก ภูมิภาคอาเซียน เป็นจุดหมายอันดับต้นๆในการย้ายฐานการผลิต นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วเป็นต้นมา โดยปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ อาทิ ทำเลที่ตั้งเหมาะสม ห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายขนส่งที่แข็งแกร่ง กำลังแรงงานขนาดใหญ่ แถมกลุ่มอาเซียนยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจคู่ขัดแย้งทั้งสองอีกด้วย

ด้านปัจจัยสนับสนุนการเติบโตระยะยาวก็มีอยู่เพียบทั้ง การท่องเที่ยวขยายตัวสูง รัฐบาลขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภาคธนาคารอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว ตลอดจนความได้เปรียบด้านโครงสร้างประชากรของหลายๆชาติสมาชิก ทำให้เป็นที่คาดหมายว่าในปี 2050 เศรษฐกิจอาเซียนจะใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และ สหรัฐฯ

นอกจากนี้ อาเซียนยังมี “ทีเด็ด” ระยะสั้น! JPMorgan เผยสถิติในอดีตชี้ว่า ตลาดหุ้นอาเซียน มักสร้างผลตอบแทนโดดเด่นในระยะ 3-6 เดือนหลัง Fed, ECB ผ่อนคลายการเงินในช่วงกลางวัฏจักร ดังเช่นปัจจุบัน …ตรงนี้คงต้องแทรกคำเตือน “ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต”

 

กองทุนหุ้นอินเดีย เช่น KT-INDIA เนื่องจาก เศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งเติบโตเร็วอันดับต้นๆในบรรดาประเทศใหญ่ชั้นนำของโลกนั้น พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากบรรยากาศการค้าโลกซบเซา ตลาดหุ้นอินเดีย จึงมัก outperform ตลาดอื่นๆ (ขึ้นมากกว่า หรือ ลงน้อยกว่า) ในยามที่นักลงทุนทวีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ดังเช่นปัจจุบัน! อนึ่ง หุ้นอินเดีย ปกติซื้อขายกันที่ราคาสูงๆ (ใครก็รู้ว่าโตเร็ว) การหา “จุดเข้า” จึงสำคัญ

ทั้งนี้ ดัชนี Nifty ปรับฐานในช่วงเดือนที่ผ่านมาเพราะเริ่มหมดข่าวดีหลังเลือกตั้ง จนสัญญาณเทคนิคที่สำคัญตัวหนึ่งคือ RSI < 30 เข้าสู่ภาวะ “ขายมากไป” (oversold) ซึ่งสถิติในอดีตชี้ว่า ดัชนีฯมักผ่านจุดต่ำสุดและกลับตัวขึ้นในไม่ช้า *คำเตือน* “ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต”