ก.ล.ต.สนับสนุน SE ขึ้นทะเบียน ระดมทุนจากประชาชนได้

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.เปิดทางวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมฯขายหุ้นต่อประชาชนได้ ไม่ต้องขออนุญาต  นำกำไร 70% ใช้ประโยชน์ส่วนรวม  ส่วนการดำเนินงานของก.ล.ต.  บอร์ดเห็นชอบให้เดินตามนโยบายหลักของรัฐบาล

รื่นวดี สุวรรณมงคล

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงผลประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 8/2562 วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า มีมติเห็นชอบอนุญาตให้วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise – SE) ที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตสำนักงาน เช่นเดียวกับบริษัทประชารัฐ 77 แห่งที่เคยได้รับการยกเว้นไปแล้ว เพื่อใช้ในการดำเนินการเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยจะเสนอแนวทางการอนุญาตดังกล่าวต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อพิจารณาต่อไป

“วิสาหกิจเพื่อสังคมนำผลกำไรไม่น้อยกว่า 70% ไปใช้เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน แก้ไขพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนร่วมอื่น หรือคืนประโยชน์แก่สังคม ส่วนอีกไม่เกิน 30% จะแบ่งเป็นกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น”นางสาวรื่นวดีกล่าว

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2562 มีผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 33 แห่งหรือเป็นบริษัท 29 บริษัท

นอกจากนี้คณะกรรมการก.ล.ต.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการของสำนักงานก.ล.ต.ที่สอดรับกับคำแถลงนโยบายหลัก 12 ด้านของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ก.ล.ต. มีแนวทางการดำเนินการหลัก 6 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมการเข้าถึงทุนของกิจการทุกระดับ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเพื่อชุมชนและสังคม เป็นต้น 2) การปฏิรูปการออมและสนับสนุนการลงทุนระยะยาว เพื่อตอบโจทย์สังคมอายุยืน 3) การปฏิรูปรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างมั่นใจ 4) ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน โดยใช้กลไกตลาดทุนสนับสนุนให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามองค์การสหประชาชาติ 5) ความสามารถในการแข่งขันในเวทีต่างประเทศ เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนระยะยาวจากผู้ลงทุนทั่วโลก และ 6) การคุ้มครองผู้ลงทุน และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อตลาดทุนมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงานจะนำแนวทางดังกล่าวไปกำหนดกรอบในการจัดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมต่อไป