บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดตัวบริษัทฯ และผู้บริหารอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2562 ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจกองทุนรวมมานานกว่า 20 ปี
คณะกรรมการที่แน่นด้วยคุณภาพ “เกศรา มัญชุศรี” อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทฯ “ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้ง”เสาวณีย์ ศรีสุวรรณกิจ” อดีตผู้บริหาร บลจ.กสิกรไทย มาเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
จากจุดเริ่มต้นที่มองเห็นความต้องการของผู้ลงทุนในการใฝ่หาการลงทุนมากขึ้น ทำอย่างไรผู้ลงทุนจะมีกองทุนหลากหลายประเภท มีวิธีการลงทุนสร้างผลตอบแทนได้
“บลจ.วี อยากเข้ามาเติมเต็มส่วนนี้ให้ผู้ลงทุนไทย ทำอย่างไรเขาจะเลือกกองทุนประเภทต่างๆ เพื่อจะมีทางเลือกมากขึ้น ดูกันที่ผลงานและการทำงานของบลจ.วี ซึ่งคนที่อยู่ในบลจ.วี มีประสบการณ์กว่า 20 ปี และบอร์ดบางคน อย่างคุณตระกูลจิตรและคุณเสาวณีย์ อยู่ในวงการตั้งแต่ปี 2535 ผ่านวิกฤตหลากหลายและมีประสบการณ์มามาก”นางเกศรา มัญชุศรี ประธานกรรมการ บลจ.วี กล่าว
“โปรดักส์” ตอบโจทย์นักลงทุนทุกกลุ่ม
น.ส.งามนภา ธวัชโชคทวี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บลจ.วี เปิดเผยว่า บลจ.วี จัดตั้งขึ้นโดยทีมผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้านตลาดเงินตลาดทุนรวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุน ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจกองทุนรวมและธุรกิจหลักทรัพย์มากกว่า 20 ปี โดยมีบล.เคทีบี ถือหุ้น 51% และอีก 49% ถือหุ้นโดยคณะผู้บริหาร
ภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจ “We design your wealth, We grow together” คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่เหมาะกับนักลงทุนที่มีความต้องการที่แตกต่างกันของทุกกลุ่มนักลงทุน โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมด้วยความหลากหลายด้านนวัตกรรมทางการเงินที่สามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้าได้
บลจ.วี ปักธงเน้นเฉพาะธุรกิจ “กองทุนรวม” ถึงแม้จะมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ก็ตาม โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการเมือวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ออกกองทุนรวมแล้ว 7 กองทุน ขายผ่านตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน คือ KTBST ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) อยู่ที่ 3,196 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ 88% และกองทุนรวมต่างประเทศ 12%
“หลังเปิดบริการมา 4 เดือน บลจ.วีมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับที่ 19 จากจำนวน 23 บลจ. ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย โดย 80% เป็นลูกค้าบุคคล ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ค 60% ลูกค้าทั่วไป 20% ที่เหลือเป็นลูกค้านิติบุคคล 20%” น.ส.งามนภา กล่าว
พร้อมกันนี้ตั้งเป้าขยาย AUM ในปี 2562 แตะ 6,700 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบรรลุเป้าแล้ว 48% และตั้งเป้า AUM ที่ 10,000 ล้านบาท ใน 3 ปีข้างหน้า โดยจะเติบโต 20% และ 50% ในปี 2563 และ ปี 2564 ตามลำดับ
“ผลตอบแทนดี-บริหารความเสี่ยงเหมาะสม”
“นายอิศรา พุฒตาลศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.วี กล่าวว่า กลยุทธ์หลักที่ บลจ.วี ยึดมั่นและดำเนินมาตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง คือ การสร้างผลตอบแทนที่ดีควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยมี ปรัชญาในการบริหารการลงทุน 4 ข้อ คือ
1.) การบริหารการลงทุนแบบ Top Down และ Bottom up
2.) การกำหนดกลยุทธ์เพื่อกระจายความเสี่ยงในแต่ละประเภทสินทรัพย์ (Strategic and Tactical Asset Allocation)
3.) ยึดหลักการบริหารงานเป็นทีม (Team Approach) โดยมีคณะกรรมการการลงทุน (Investment Committee) เป็นศูนย์กลางการบริหารการลงทุน และมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) ในการตรวจสอบกลยุทธ์การลงทุน
4.) การมีวินัยในการลงทุน และ ผู้จัดการกองทุนยึดหลักความรอบคอบระมัดระวัง (Disciplined & Prudence) เน้นที่วัตถุประสงค์การลงทุนที่ชัดเจน และมีระบบในการตรวจสอบอย่างสม่ำเสนอ
“จุดเด่นของ บลจ.วี ที่ทำให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ คือ เรายึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลักและมองการเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า ซึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงต้องอาศัยประสบการณ์และวินัยในการลงทุน ซึ่งทีมงานมีความพร้อม เนื่องจากเราผ่านวัฏจักรตลาดทุนมาแล้วทุกรูปแบบ และการเป็นบลจ.ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ทำให้ตอบสนองต่อภาวะตลาดได้อย่างรวดเร็ว และคล่องแคล่วว่องไว หากมีโอกาสในการลงทุนจึงสามารถออกกองทุนเพื่อจับจังหวะในการสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าได้ทันที”นายอิศรา กล่าว
ในช่วงที่ผ่านมาบลจ.วี จึงออกกองทุนรวมไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มีเป้าหมายการเลิกโครงการชัดเจนภายในเวลากำหนดหรือทริกเกอร์ฟันด์ ไม่ว่าจะเป็นทริกเกอร์ฟันด์หุ้นสหรัฐฯ,หุ้นจีน,หุ้นอินเดีย,หุ้นเทคโนโลยีและทริกเกอร์ฟันด์กระจายลงทุนหุ้นทั่วโลก เนื่องจากเชื่อมั่นว่าราคาหุ้นที่ร่วงลงมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้
“การออกกองทุนต่างประเทศ เพราะเราเห็นโอกาส ในขณะที่หุ้นไทยมองอัพไซด์จำกัด เป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,750 จุด จึงอยู่ระหว่างพิจารณาและหาจังหวะในการออกกองทุน อาจเป็นกองทุน ETF เพราะนักลงทุนซื้อขายได้ทันทีไม่ต้องรอราคาสิ้นวัน ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางและต้องแตกต่างจากบลจ.อื่น” นายอิศรา กล่าว
จุดแข็งบุคคลากร-โปรดักส์ต่าง
“น.ส.นิตยา เลิศแสงเพชร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์และช่องทางบริการ บลจ.วี เปิดเผยว่า จุดแข็งของบริษัทในด้านของบุคลากรและพันธมิตรทางธุรกิจด้านจัดการลงทุน ทำให้บริษัทสามารถเติมเต็มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การลงทุนได้ดี โดยเชื่อว่ากองทุนที่มีสไตล์และแนวทางการลงทุนที่ชัดเจนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งกองทุนที่ออกจะต้องแตกต่างและมีจุดเด่น
“ถึงแม้จะมีบลจ.หลายรายในตลาด แต่เราอยากเป็น “ทางเลือกใหม่” ให้แก่นักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่นักลงทุนยังขาดความรู้ความเข้าใจในโปรดักส์ที่มีอยู่จำนวนมาก ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า การออกแบบโปรดักส์หรือกองทุนรวม ที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองด้วยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนก่อนที่จะนำเสนอให้แก่นักลงทุนนั้น เป็นการคัดสิ่งที่ดีและมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนบนความเสี่ยงที่เหมาะสมมานำเสนอให้แก่นักลงทุน พร้อมเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอในระยะยาว มีผลงานติดกลุ่มควอไทล์ที่ 1 สม่ำเสมอ”น.ส.นิตยา กล่าว
ในช่วงครึ่งปีหลังบลจ.วี มีแผนออกกองทุนรวมประมาณ 12 กองทุน เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการลูกค้าในการจัดสรรพอรต์การลงทุนที่เหมาะสมในปีนี้ เช่นเดียวกับการลงทุนใน “หุ้นบริษัทเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ควรอยู่ในพอร์ตลงทุน บลจ.วี จึงออกกองทุนเปิด วี โกลบอลเทคโนโลยี (WE-GTECH) เปิดขายครั้งแรกตั้งแต่วันนี้- 7 ส.ค.2562 มีนโยบายลงทุนในหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีการเติบโตตาม Mega Trendทั่วโลก ผ่านกองทุนหลัก POLAR CAPITAL FUNDS PLC GLOBAL TECHNOLOGY FUND ที่เน้นเลือกลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและพฤติกรรมผู้บริโภค และมีแนวโน้มการเติบโตของรายได้และกระแสเงินสดสม่ำเสมอ โดย POLAR CAPITAL ASSET MANAGEMENT ซึ่งเป็นผู้นำด้านการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีที่ในยุโรปเป็นผู้บริหารกองทุน
สำหรับนโยบายการลงทุนของกองทุนกระจายลงทุนใน 8 กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสำคัญที่อยู่ในโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เติบโตยั่งยืนตามพฤติกรรม โดยเลือกลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านดอลลาร์ มีการเติบโตอย่างน้อยในระดับ 1.5-2 เท่า เมื่อเทียบกับการเติบโตของดัชนี และมีการเติบโตของรายได้ประมาณ 15-25% ต่อปี ซึ่งจากแนวทางการบริหารกองทุนที่มีความชัดเจนสะท้อนผลถึงการดำเนินงานกองทุนที่ดีตลอดช่วงการบริหารกองทุนกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ทางด้านของช่องทางการขายซึ่งปัจจุบันผ่าน KTBST เป็นหลักแล้ว ปัจจุบันบลจ.วีได้เชื่อมต่อระบบ FundConnext รองรับช่องทางการขายได้ทั้งตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Selling agent) และการเชื่อมต่อกับ Fintech และช่วงปลายปีจะเปิดช่องทางซื้อขายกองทุนรวมผ่าน Streaming for Fund และเปิดบัญชีซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต รวมถึงขยายช่องทางการขายผ่านตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนอื่นๆ เพิ่มขึ้น
ถือเป็นบลจ.น้องใหม่ ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม อีกหนึ่ง “ทางเลือก” ให้กับนักลงทุน นอกเหนือไปจากตลาดกองทุนรวมไทยที่ถูกครองส่วนแบ่งการตลาดด้วยบลจ.ลูกแบงก์ในสัดส่วนสูงถึง 92% ในขณะที่บลจ.ที่ไม่ใช่ลูกแบงก์ มีส่วนแบ่งอยู่เพียง 8% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่ 5.3 ล้านล้านบาท