ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่มีกลไกดูแลผู้ลงทุนที่เหมาะสม
พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2561 กำหนดให้ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน รวมทั้งการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ และให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงเผยแพร่เอกสารเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ แนวทางของหลักการและประกาศที่เสนอรับฟังความคิดเห็นนี้ได้ยึดตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กล่าวคือ การเปิดให้ผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยสุจริตสามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย ในขณะที่สามารถคุ้มครองผู้ลงทุนจากการถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบตามสมควร และป้องกันการฟอกเงินได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ สำหรับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนนั้น กฎหมายระบุว่า ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน รวมทั้งได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.โดยต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นนี้จะครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ หลักเกณฑ์การอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิทัล คุณสมบัติของ ICO portal การกำหนดประเภทผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนในโทเคนดิจิทัลได้ เป็นต้น
ในเรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น ช่วงแรกนี้จะเสนอให้เปิดเฉพาะบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายขอกระทรวงการคลัง โดยในการพิจารณาอนุญาต ก.ล.ต. จะพิจารณาจากการมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่มีเหตุให้สงสัยว่าผู้ระดมทุนตั้งใจจะไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลหรือต้องการเอาเปรียบผู้ลงทุน และกรรมการและผู้บริหารต้องไม่เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น ส่วนในเรื่องคุณสมบัติของ ICO portal ซึ่งเป็นผู้กลั่นกรองโทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตและกลั่นกรองความถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วนของข้อมูลใน filing ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้น จะเสนอให้เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม และต้องมีระบบการทำ due diligence และคัดกรองผู้ระดมทุน รวมทั้งแผนธุรกิจ มีการตรวจสอบ source code ของ smart contract และมีกระบวนการเพื่อทำความรู้จักตัวตนของลูกค้าและการทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (suitability test) สำหรับผู้ลงทุนรายย่อยด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ จะขอรับความคิดเห็นว่านอกจากระบบอนุญาตเสนอขายตามปกติแล้ว ควรมีระบบอนุญาตแบบรองรับการทยอยระดมทุนหลังอนุญาตครั้งเดียวด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ระดมทุน ส่วนผู้ลงทุนรายย่อยที่สามารถลงทุนในโทเคนดิจิทัลได้นั้น สามารถลงทุนได้ไม่เกินรายละ 3 แสนบาทต่อการเสนอขายในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ จะมีการเสนอให้มีการกำหนดมูลค่าสูงสุดของการเสนอขายในแต่ละครั้งต่อผู้ลงทุนรายย่อยด้วย
สำหรับเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจ (1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดนั้น หลักเกณฑ์ที่เสนอจะพิจารณาถึงการมีแหล่งเงินทุนเพียงพอ มีระบบรักษาความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงจากโจรกรรม มีระบบการรู้จักและตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับคริปโทเคอร์เรนซีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด หรือเงินบาทเท่านั้น
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. http://capital.sec.or.th/webapp/phs/viewall/viewall.php ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง aunchisa@sec.or.th jirawut@sec.or.th หรือ wasu@sec.or.th ได้จนถึงวันที่ 30 พ.ค.2561