CPALL กำไรสดใส ทริสเพิ่มเครดิต AA- มาร์จิ้น 23% การเงินแกร่ง

HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้  ซีพี ออลล์ เป็นระดับ “AA-” จากเดิมที่ระดับ “A+”   โครงสร้างทางการเงินดีขึ้น กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง  ภาระหนี้ลดลง  คาดปี 2564 กำไรก่อนค่าเสื่อม 56,100 ล้านบาท รายได้โต 6-7% แผน  3 ปีใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท/ปี 

บริษัท ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) เป็นระดับ “AA-” จากเดิมที่ระดับ “A+” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” เช่นเดียวกับ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน เป็นระดับ “AA-” ด้วย สะท้อนถึงการมีโครงสร้างทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัท

ทริสฯคาดว่าอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวม จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 20% ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง จากการเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย ตลอดจนลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การมีเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มผู้ค้าปลีกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่งผลกระทบในด้านลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย

บริษัทประสบความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการเพิ่มยอดรายได้ในกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง อัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) 22.4-23 % และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับ 8.7-9.2% ทำให้กำไรอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะมีค่าใช้จ่ายก่อนการดำเนินงานจากการขยายสาขาไปยังต่างประเทศของ บริษัท สยามแม็คโครที่สูงก็ตาม

กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 49,337 ล้านบาทในปี 2561 และ 13,228 ล้านบาทในไตรมาส 1/2562 จาก 46,603 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 56,100 ล้านบาทในปี 2564

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแหล่งรายได้และกำไรจากการให้บริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ได้แก่ การเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์และบริการรับส่งพัสดุ จากสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 56,100 ล้านบาทในปี 2564

ส่วนหนี้สินของบริษัทลดลง ทริสฯคาดว่าโครงสร้างเงินทุนจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการขยายสาขาของทั้งร้านค้า 7-Eleven และแม็คโครอย่างต่อเนื่องก็ตาม บริษัทมีเงินกู้รวมอยู่ในระดับสูงจากการซื้อกิจการของบริษัทสยามแม็คโครในช่วงปลายปี 2556 แต่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้จำนวนมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังขายหุ้นของบริษัทสยามแม็คโครไปบางส่วน เพื่อนำมาใช้ชำระหนี้  ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงอย่างมาก มาอยู่ที่ระดับ 3.4 เท่าในปี 2561 และ 3.3 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาส1/ 2562 จากระดับ 5.5 เท่าในปี 2557

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยขยายร้านค้า 7-Eleven ประมาณ 700 ร้านและห้างแม็คโครอีกประมาณ 8-10 สาขาต่อปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะเพียงพอ ทริสฯคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.4 เท่าในปี 2564 ในกรณีที่ไม่มีการขายหุ้นในบริษัทสยามแม็คโคร

ส่วนรายได้จากการดำเนินงานรวมจะเติบโต 6-7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในปี 2561 อยู่ที่ 527,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่า 8-11% ในระหว่างปี 2558-2560 การเปิดสาขาใหม่ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มรายได้ ในขณะที่ ยอดขายในสาขาเดิมของ 7-Eleven เติบโต 3.2% ในปี 2561 ส่วนของห้างแม็คโครลดลง 0.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ตกต่ำ

ในไตรมาส1/ 2562 รายได้จากการดำเนินงานรวม อยู่ที่ 138,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5%  ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตคือการเปิดร้านใหม่ของ 7-Eleven รวมถึงยอดขายเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น และราคาผลิตภัณฑ์จากสุกรที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ยอดขายในผลิตภัณฑ์อาหารของห้างแม็คโครเพิ่มขึ้น

บริษัทมีสภาพคล่องที่ดี กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินสดในมือเพียงพอสำหรับใช้ในการชำระหนี้ รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุน และจ่ายเงินปันผลตามปกติ กระแสเงินสดเพื่อรองรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 21.4% ในปี 2561 และ 22.1% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) จากระดับ 18.4% ในปี 2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 5.1 เท่าในปี 2561 และ 5.5 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 4.7 เท่าในปี 2560

บริษัทซีพี ออลล์ มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย บริษัทดำเนินธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้าสากล “7-Eleven” ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ร้านค้า 7-Eleven มีจำนวนคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของร้านค้าสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศไทย ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีร้านค้า “7-Eleven” ทั้งหมด 11,299 ร้านทั่วประเทศ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ของจำนวนร้านค้าทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่เหลือ 56% อยู่ในต่างจังหวัด นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสาขาของร้านค้า 7-Eleven มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น