HoonSmart.com>>3 บริษัทจดทะเบียน พลิกโฉม หลังประสบความสำเร็จในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) แห่งแรก และใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เฟส 1 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ (MW) มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562 โดยได้รับเกียรติจาก “ออง ซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เป็นประธานเปิดงาน มีรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ และแขกมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ที่ เมืองมินบู รัฐมาเกวย ทำให้ผู้ลงทุนในบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) หรือ GEP เริ่มรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น พร้อมความมั่นใจในการขยายการลงทุน….
กว่าจะมาถึงวันนี้ โซลาร์ฟาร์มมินบู เฟส 1 ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานามาตั้งหลายครั้ง ทั้งเรื่องอดีตผู้ร่วมลงทุนขอขายหุ้นคืน รวมถึงแหล่งเงินทุนสะดุด ส่งผลให้โครงการก่อสร้างล่าช้าและเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) จากเดิมคาดไว้ในปี 2561
คุ้มค่า! สำหรับความสำเร็จที่รอคอย คาดว่าจะได้รับกำไรประมาณปีละ 500 ล้านบาท โซลาร์ฟาร์มมินบู เริ่ม COD วันที่ 28 มิ.ย. 2562 ได้สร้างความภูมิใจ และความเชื่อมั่นต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนไทยที่ร่วมลงทุนใน GEP ประกอบด้วย บริษัท สแกน อินเตอร์ (SCN) สัดส่วน 40% บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) 20% บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META)12 % รวมถึงกองทุนสิงคโปร์ของนักลงทุนไทยร่วมกับเมียนมา สัดส่วน 28% ประกาศเร่งลงทุนต่อใน เฟส 2 เฟส 3 และ เฟส 4 ที่มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการทุก ๆ1 ปี รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 220 เมกะวัตต์ การรับซื้อสูงสุด 170 เมกะวัตต์ ในอัตราคงที่ที่ 0.1275 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยไฟฟ้า ตลอดสัญญา 30 ปี บนเนื้อที่ 2,115 ไร่
“ออง ทีฮา “ ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ การันตีความสำเร็จของ GEP ในอนาคตในการพัฒนาโครงการต่อๆ ไป เมียนมามีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2573 ปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 3,500 เมกะวัตต์ (MW) ยังขาดอยู่อีก 4,000 MW
“ผมในฐานะคนเมียนมาและหนึ่งในผู้บุกเบิกพลังงานในเมียนมา มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่เป็นผู้สร้างความสำเร็จและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทันประเทศอื่นๆ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ รวมถึงนักลงทุน สถาบัน และพันธมิตรทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ได้มีส่วนช่วยพัฒนาโครงการ ทำให้คนเมียนมามีไฟฟ้าใช้มากขึ้น ”
ทางด้าน “ฤทธี กิจพิพิธ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ ซึ่งเพิ่งเข้ามาถือหุ้นในปี 2561 จำนวน 30% เป็นเงินลงทุนประมาณ 1,234.88 ล้านบาท กล่าวว่า SCN จะลงทุนเพิ่มเป็น 40% หลัง COD จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน GEP ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตทำสถิติใหม่ หลังเริ่มรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นโครงการโซลาร์ฟาร์มมินบูเฟสแรก และไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากความล่าช้ารถเมล์ NGV เหมือนปีก่อน
ทั้งนี้ โครงการมินบูจะจ่ายไฟครบ 220 เมกะวัตต์ ในปี 2565 สร้างรายได้ประมาณปีละ 1,000-1,200 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายประมาณ 50%
“ผมเรียนจบดอกเตอร์ ด้านโซลาร์โดยเฉพาะ ตอนอายุ 27 ปี มีความฝันว่าจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด วันนี้ความฝันเป็นความจริงแล้ว ขอบคุณที่ร่วมกันทำโรงไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในเมียนมา จำนวน 220 MW แม้ว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าในเมียนมา”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายในการขยายการลงทุนด้านพลังงานเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต แต่ไม่ได้มองแค่ที่เมียนมา อยู่ระหว่างการศึกษาในประเทศเวียดนามและใกล้เคียง กำลังการผลิตรวมกว่า 100 เมกะวัตต์ คาดได้ข้อสรุปปีนี้อย่างน้อย 1-2 ดีล
“อารักษ์ สุขสวัสดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค ผู้พลิกธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เข้าสู่พลังงาน กล่าวว่า โรงไฟฟ้ามินบูเป็นความภูมิใจโครงการหนึ่งของเมียนมา พวกเราเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการสร้างความสำเร็จ เพราะมีความมุ่งมั่น และจะเร่งลงทุนเฟส 2-4 ให้เร็วที่สุด จะรวบทำให้เร็วขึ้น เกิดจากการจ้างงานมากกว่า 1,000 คน แหล่งเงินทุนมาจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
“ผมถูกถามมาตลอดว่าโครงการนี้ จะเกิดหรือไม่ จะเสร็จไหม ECF ถูกท้าทายครั้งแรกในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบัน COD เรียบร้อยแล้ว และไบโอแก๊สที่จังหวัดแพร่ด้วย โครงการนี้บริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คาดใช้เวลาคืนทุน 10 ปี ส่วนที่เหลือ 20 ปี เป็นกำไร จะช่วยต่อยอดขยายการลงทุนต่อไป ปัจจุบันกำลังพิจารณาลงทุนในโรงไฟฟ้าทดแทนต่างประเทศ ขนาด 50 MW ตั้งเป้าในปี 2565 จะมีกำลังการผลิตรวม 150 เมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจพลังงาน 60-70% จากปัจจุบันมีเพียง 10 เมกะวัตต์ กำไรมาจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ประมาณ 70% ”
“ศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์” ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัทเมตะ คอร์ปอเรชั่น ผู้นำด้านรับเหมาก่อสร้าง และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีโอกาสพลิกมีกำไร หลังเริ่มรับรู้กำไรโรงไฟฟ้ามินบูเฟสแรก 50 เมกะวัตต์ และรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง แม้ไตรมาส 1 จะขาดทุน 8.71 ล้านบาท เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามินบู ส่วนรายได้จะใกล้เคียงปีก่อนที่ทำได้ 1,471.01 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือประมาณ 7,000 ล้านบาท รับรู้รายได้ถึงปี 2565