4 ธุรกิจการบินโชว์ผลดำเนินงานไตรมาส 1 “การบินไทย”เป็นเพียงบริษัทเดียวที่มีผลงานลดลง เหลือกำไรสุทธิ 2,716 ล้านบาท เอเชีย เอวิเอชั่นโตดีจ่ายปันผลระหว่างกาล การบินกรุงเทพได้ธุรกิจสนามบินหนุน “นกแอร์” ขาดทุนลดลงเหลือ 26 ล้านบาท ข่าวแพร่สะพัด”กลุ่มจุฬางกูร”เร่ขายหุ้น 49% ซีอีโอปฎิเสธข่าวยกล็อตขาย สิงคโปร์แอร์ไลน์ และแอร์เอเชีย มาเลเซีย
บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2561 ว่ามีกำไรสุทธิ 2,716.92 ล้านบาท ลดลงจำนวน 440.27 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 13.94% จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,157.19 ล้านบาท
กำไรที่ลดลงมาจากรายได้รวมทั้งสิ้น 53,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 3,662 ล้านบาท หรือ 7.4% เนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 6.4% จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 2.2% และรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.5% แต่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 2,393 ล้านบาทหรือ 5.1% เป็น 49,630 ล้านบาท เนื่องจากน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 1,189 ล้านบาท จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 22.8%
ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 1,280 ล้านบาทหรือ 3.9% สาเหตุหลักมาจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน
ในไตรมาสนี้ บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงานจำนวน 104 ลำ เพิ่มขึ้น 9 ลำ อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเท่ากับ 11.9 ชั่วโมง ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่เท่ากับ 12.4 ชั่วโมง อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80.6% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 80.9% แต่ต่ำกว่าปีก่อนเฉลี่ยที่ 82.8% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.25 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4.1%
“บริษัทได้จัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2561 โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานมีกำไร การปรับปรุงคุณภาพการบริการ และรักษามาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลได้อย่างต่อเนื่อง”บริษัทการบินไทยระบุ
ทางด้านบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV)มีกำไรสุทธิ 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 434 ล้านบาทคิดเป็น 76.14% โดยนำกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.207 บาท มาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.20 บาท
บริษัท การบินกรุงเทพ (BA)มีกำไรสุทธิ 710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 162 ล้านบาทหรือเติบโตประมาณ 29.56% จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 548 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 7,830 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.8% มาจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจสายการบิน 4.9% และธุรกิจสนามบินถึง 17.1% แต่ภาวะการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้อัตราการเติบโตของผู้โดยสาร 8.4% อัตราส่วนการ
ขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 76.4% แต่รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วย (Yield) ลดลงจาก 4.91 บาทต่อคนต่อกม. เป็น 4.79 บาทต่อคนต่อกม. หรือลดลง 2.3%
สำหรับบริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) ขาดทุนลดลงเหลือ 26 ล้านบาท ดีขึ้นถึง 91% จากยอดขาดทุนถึง 295 ล้านบาท
สาเหตุที่บริษัทฯยังมีผลขาดทุนเนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่ารายได้ค่าโดยสารและบริการ ต้นทุนหลักได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยังคงเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันอากาศยาน แม้ว่ารายได้ค่าโดยสารและบริการจะเพิ่มขึ้นกว่าระยะเดียวกันปีก่อนก็ตาม
สถานการณ์ธุรกิจการบินที่เผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมานานและต่อเนื่อง ได้เกิดกระแสข่าวเรื่อง ผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท สายการบินนกแอร์ คือ กลุ่ม”จุฬางกูร”ที่ถือหุ้นรวมกันทั้งสิ้น 49.34% มีการนำหุ้นออกมาเสนอขาย โดยนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ AAV ได้ปฎิเสธกระแสข่าวเจรจาซื้อหุ้น NOK จากกลุ่มจุฬางกูร แต่ข่าวลือยังไม่หยุด
ล่าสุดนายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ ได้ออกมาปฎิเสธข่าวเรื่องกลุ่มจุฬางกูรเจรจาขายหุ้นให้กับสิงคโปร์แอร์ไลน์ และแอร์เอเชีย มาเลเซีย โดยระบุว่าจากการตรวจสอบกับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทางผู้ถือหุ้นไม่มีความประสงค์ในการขายหุ้นของบริษัทฯ แต่อย่างใด
“นกแอร์ถือปฏิบัติตามกฏการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับการถือหุ้น ก็จะมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที” นายปิยะกล่าวและว่า ปัจจุบันนกแอร์ยังดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูธุรกิจอย่างเต็มกำลัง เพื่อทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นตามลำดับ