กูรูชี้พรก.คุมเงินดิจิทัลส่งผลให้การซื้อขายในประเทศซบเซา เพราะนักลงทุนยังไม่ทราบความชัดเจนในการเก็บภาษี ขณะที่ JFin Coin ยันไม่หนีไปซื้อขายในต่างประเทศ ด้านก.ล.ต.เล็งจำกัดประเภทนักลงทุนซื้อขายโทเคนดิจิทัลและและคริปโตเคอร์เรนซี่
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจเวนเจอร์ส (JVC) บริษัทลูกของบริษัท เจ มาร์ท (JMART) ซึ่งออกและขายโทเคนดิจิทัล JFin Coin และขายให้นักลงทุน 100 ล้านโทเคน เป็นเงิน 660 ล้านบาท เปิดเผยกับ Hoonsmart.com ว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างรอดูความชัดเจนของประกาศหลักเกณฑ์การซื้อขายเงินดิจิทัลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งผลให้การซื้อขายเงินดิจิทัลในตลาดชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
“การมูลค่าซื้อขายเงินดิจิทัลลดลง รวมถึงเหรียญ JFin Coin ลดลง เนื่องจากนักลงทุนยังไม่รู้ว่าการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั้น จะคิดกำไรอย่างไร และวิธีหักภาษีจะทำอย่างไร โดย JVC ได้สอบถามไปยังก.ล.ต.ว่าเหรียญ JFin Coin ที่ออกไปแล้ว 100 ล้านโทเคนจะต้องทำอะไรหรือไม่ ซึ่งก.ล.ต.บอกว่าไม่ต้องทำอะไร ส่วนเงินที่ JVC ได้จากการระดมทุนหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายแล้ว 500 ล้านบาทยังคงฝากไว้ในธนาคาร ส่วนระดมทุนรอบใหม่อีก 200 ล้านโทเคน”นายธนวัฒน์กล่าว
สำหรับแผนการออก JFin Coin อีก 200 ล้านโทเคนในปี 2562 นั้น นายธนวัฒน์ กล่าวว่า หากจะมีการออกจริงก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์ของก.ล.ต. และต้องดูว่าถึงความจำเป็นในการใช้เงินด้วย ส่วนราคาเหรียญ JFin Coin ที่ลดลงเหลือ 3 บาทกว่าจาก 6.60 บาทนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะขณะนี้ระบบ DLP ที่ทาง JVC ลงทุนยังไม่สร้างรายได้และผลตอบแทน แต่หากระบบเริ่มเดินเครืองในเดือนต.ค.ปีนี้ และสร้างผลตอบแทนเมื่อไหร่ ค่าเงิน JFin Coin จะกลับมาอยู่บนพื้นฐานรายได้และกำไร
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า การที่พ.ร.ก.กำหนดให้นักลงทุนที่ซื้อขายและบริษัทที่ออกโทเคนดิจิทัลและและคริปโตเคอร์เรนซี่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง จะทำให้นักลงทุนหันไปซื้อขายเงินดิจิทัลในต่างประเทศ เช่นเดียวกับสตาร์สอัพที่จะออกไประดมทุนในต่างประเทศเช่นกัน ส่วน JVC ยืนยันว่า จะยังนำเหรียญ JFin Coin ซื้อขายในตลาดประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลรายอื่นๆ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก
นพ.พุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ นักลงทุนเงินดิจิทัล กล่าวว่า การเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหรือโอนโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี่ในอัตรา 15 % ของเงินได้พึงประเมิน จะส่งผลกระทบต่อตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอล รวมถึงสตาร์ทอัพ ที่จะออกและเสนอขาย ICO ซบเซามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล หรือการขาย ICO ในประเทศ ไม่ได้รับความสนใจมากนัก หลังจากราคาบิทคอยน์ ปรับตัวลงและมีความผันผวน ทำให้นักลงทุนหนีไปลงทุนต่างประเทศ
“ในทางปฏิบัติการจัดเก็บภาษี ทำได้ค่อนข้างลำบาก และที่สุดแล้ว จะมีการหลบเลี่ยง การจ่ายภาษี ซึ่งต้องนำรายได้ไปคำนวณรวมกับรายได้บุคคล สุดท้ายแล้ว ตลาดแลกเปลี่ยนที่จะเปิดใหม่ ก็สะดุด ตลาดที่เปิดแล้ว ซบเซา นวัตกรรมใหม่ ๆ จะหลุดไปต่างประเทศแทน
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการออกและซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในช่วงต้นสัปดาห์หน้าหรือประมาณวันที่ 21 พ.ค.นี้ โดยจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนมิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงสูงจากราคาที่ผันผวน และสตาร์สอัพที่ระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี มีความเสี่ยงล้มเหลวสูง ดังนั้น ร่างประกาศฯจะจำกัดประเภทนักลงทุน เช่น ต้องเป็นนักลงทุนสถาบัน กองทุน นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ ส่วนนักลงทุนรายย่อยจะมีการกำหนดคุณสมบัติ เช่น ต้องมีรายได้และสินทรัพย์เท่าไหร่จึงจะลงทุนได้ รวมทั้งจะจำกัดการซื้อต่อครั้งด้วย
“การลงทุนในโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี เป็นตลาดของผู้รู้ แต่ก็มีคนเข้ามาเก็งกำไร และมีคนเจ๊งมากถึง 90% จึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ต้องจำกัดประเภทนักลงทุน”นายรพีกล่าว
นอกจากนี้ เบื้องต้นร่างประกาศฯจะกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี เช่น มีแหล่งเงินทุนเพียงพอ ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการขายเสนอและร่างหนังสือชี้ชวนให้ก.ล.ต.อนุญาตก่อน เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องมีระบบยืนยันและตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน และมีระบบการรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์
นายรพี กล่าวว่า ในระหว่างที่ประกาศหลักเกณฑ์ฯเกี่ยวกับออกและการซื้อขายเงินดิจิทัลยังไม่ออกมา การออกโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีใหม่จะทำไม่ได้ ส่วนการซื้อขายเงินดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการระบบซื้อขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ในประเทศไทยที่มี 3 ตลาดนั้น ยังสามารถทำการซื้อขายได้ตามปกติ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมายื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ภายใน 90 วันหรือภายในวันที่ 14 ส.ค.นี้
นายรพี ระบุว่า พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 จะไม่คุ้มครองการลงทุนโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีในต่างประเทศ ดังนั้น ก.ล.ต.อยากเตือนนักลงทุนว่า การลงทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง และอาจไม่มีสภาพคล่องหรือเปลี่ยนมือได้ยาก หากไม่มีความเข้าใจอย่าลงทุน และหากมีผู้ชักชวนให้ลงทุนโดยบอกว่าจะการันตีผลตอบแทนให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นการหลอกลวง เพราะการลงทุนประเภทนี้ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้
“เราคงห้ามไม่ให้ใครไปลงทุนเงินดิจิทัลที่ออกและขายในต่างประเทศได้ เราทำได้แค่เตือน”นายรพีกล่าว
นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) เรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่นักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้จากการถือ ครอบครอง หรือโอนโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ขณะเดียวกัน นักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% รวมทั้งต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อเสียภาษีประจำปีด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้กรมสรรพากรจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณากฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีการซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรมว.คลังตามพ.ร.ก.ฉบับนี้ นอกจากนี้ กรมสรรพากรและก.ล.ต.อยู่ระหว่างการหารือวิธีการเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับกำไรที่ได้จากการขายเงินดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
“โทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีที่มีการซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน เช่น JFin Coin ยังซื้อขายได้ตามปกติ แต่หากนักลงทุนมีรายได้จากการซื้อขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี แม้ว่าจะขาดทุนและไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่มีหน้าที่ต้องชี้แจงรายได้ในแบบแสดงรายการภาษีประจำปี หากไม่ดำเนินการจะมีบทลงโทษ โดยกรมสรรพากรสามารถเข้าทำการตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้ 2-5 ปีแล้วแต่กรณี”นายสาโรชกล่าว
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนิติบุคคล ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีนั้น จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และมูลค่าเงินดิจิทัลที่ออกให้ถือว่าเป็นรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีนิติบุคคล รวมทั้งจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เท่ากับบุคคลธรรมดาด้วย เช่นเดียวกับศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ต้องมีหน้าที่เสียภาษีต่างๆเช่นกัน โดยกรมสรรพกรจะเสนอร่างประกาศอัตราการเสียภาษีดังกล่าวให้ครม.พิจารณาต่อไป